สารบัญ
- เงินคืนภาษีคืออะไร?
- การขอคืนภาษีบุคคลธรรมดา
- การขอคืนภาษีนิติบุคคล
- การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การขอคืนภาษีด้วยแบบ ค.10
- สรุป
เงินคืนภาษีคืออะไร?
เงินคืนภาษี (Tax refund) เป็นเงินที่เรามีสิทธิ์ได้รับคืน เนื่องจากได้จ่ายชำระภาษีล่วงหน้าไปแล้ว มากกว่าเงินภาษีที่ต้องเสีย โดยปกติแล้วการที่จะได้สิทธิ์ขอคืนภาษีจะมีอยู่ 2 กรณีหลักๆคือ
- ในระหว่างปีผู้เสียภาษีได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ แล้วภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า ภาษีที่จะต้องเสียตอนปลายปี จึงทำให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิ์ขอคืนภาษีได้
- ในระหว่างปีผู้เสียภาษีได้เสียภาษีเงินได้ครึ่งปีเอาไว้ตามกฎหมาย แล้วภาษีครึ่งปีที่เสียไปนั้นมีมูลค่ามากกว่า ภาษีที่จะต้องเสียตอนปลายปี จึงทำให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิ์ขอคืนภาษีได้
การขอคืนภาษีบุคคลธรรมดา
โดยปกติแล้วในการยื่นแบบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะยื่นภาษีโดยใช้แบบ ภงด.90 หรือ ภงด.91 ซึ่งหากผู้เสียภาษีมีภาษีที่จ่ายไปล่วงหน้ามากกว่าภาษีที่คำนวณได้ตอนปลายปี ผู้เสียภาษีนั้นก็มีสิทธิ์ในการขอคืนภาษี ซึ่งวิธีหลักในการขอคืนภาษีจะเป็นการทำเรื่องขอคืนภาษีในแบบ ภงด.90 หรือ ภงด.91 เลย เนื่องจากในตัวแบบจะมีช่องให้กรอกและเซ็นตรง “คำร้องขอคืนเงินภาษี”


เมื่อทำเรื่องขอคืนภาษีในแบบไปแล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีควรต้องเตรียมเอกสารเหล่านี้ไว้ให้พร้อมเผื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรเรียกตรวจ
- แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91)
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ขอคืนภาษี
- เอกสารแสดงสิทธิ์ลดหย่อนภาษี (ถ้ามี) เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียนบุตร, ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ, ใบรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากธนาคาร, ใบเสร็จรับเงินการซื้อกองทุน RMF/SSF/ThaiESG, หลักฐานการบริจาค, ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน “ช้อปดีมีคืน” เป็นต้น
การขอคืนภาษีนิติบุคคล
โดยปกติแล้วในการยื่นแบบ ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะยื่นภาษีโดยใช้แบบ ภงด.50 ซึ่งหากนิติบุคคลมีภาษีที่จ่ายไปล่วงหน้า (เช่นภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย / ภาษีเงินได้ครึ่งปี) มากกว่าภาษีที่คำนวณได้ตอนปลายปี นิติบุคคลนั้นก็มีสิทธิ์ในการขอคืนภาษี ซึ่งวิธีหลักในการขอคืนภาษีจะเป็นการทำเรื่องขอคืนภาษีในแบบ ภงด.50 เลย เนื่องจากในตัวแบบจะมีช่องให้กรอกและเซ็นตรง “คำร้องขอคืนเงินภาษี”

เมื่อทำเรื่องขอคืนภาษีในแบบไปแล้ว นิติบุคคลต้องเตรียมเอกสารเหล่านี้ไว้ให้พร้อมเพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรจะเรียกตรวจอย่างแน่นอน
- งบทดลอง บัญชีแยกประเภท รายละเอียดประกอบงบ
- เอกสารประกอบการบันทึกบัญชีทั้งหมด
- แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภงด.50)
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของนิติบุคคล
การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยปกติแล้วในการยื่นแบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะยื่นภาษีโดยใช้แบบ ภพ.30 ซึ่งหากนิติบุคคล/ผู้เสียภาษีมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายในเดือนนั้นๆ นิติบุคคล/ผู้เสียภาษี สามารถเลือกได้ 2 แบบดังนี้
- นำภาษีซื้อที่มากกว่าภาษีขายไปขอเครดิตภาษีในเดือนถัดๆไป แทนที่จะขอคืนเป็นเงินสด
- นำภาษีซื้อที่มากกว่าภาษีขายไปขอคืนเป็นเงินสด
ซึ่งหากเลือกกรณีที่ 1 นำภาษีซื้อที่มากกว่าภาษีขายไปขอเครดิตภาษีในเดือนถัดๆไป ก็ให้กรอกแบบภาษีตามปกติ แต่หากเลือกกรณีที่ 2 นำภาษีซื้อที่มากกว่าภาษีขายไปขอคืนเป็นเงินสด ในแบบ ภพ.30 ก็ต้องลงลายมือชื่อ หรือกรอกข้อมูลตรงช่อง การขอคืนภาษี
การขอคืนภาษีด้วยแบบ ค.10
แบบ ค.10 หรือ “คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร” ใช้ในกรณีที่ผู้เสียภาษีต้องการขอคืนเงินภาษีที่ได้ชำระไว้เกินกว่าจำนวนที่ต้องเสียจริง แต่ไม่ได้กรอกคำร้องขอคืนภาษีในการยื่นแบบภาษีตามปกติ ซึ่งในแบบ ค.10 คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร สามารถขอคืนภาษีได้ประเภทดังต่อไปนี้
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ
- อากรแสตมป์
- ภาษีการรับมรดก
โดยจะต้องมีการระบุถึงมูลเหตุที่ขอคืน ว่ามาจากมูลเหตุใดดังนี้
- ชำระไว้เกิน ผิดหรือซ้ำ
- ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินหรือมีภาษีเกินเนื่องจากได้รับเครดิตภาษี
- ชำระหรือถูกหักภาษีอากรไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
- ได้นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย/นำส่งภาษีไว้ผิดหรือซ้ำ

ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม : ค.10 คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร
สรุป
การขอคืนภาษีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ในบางธุรกิจบริการที่มีอัตรากำไรต่ำ (กำไรน้อย เสียภาษีน้อย แต่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้จากรายได้ค่าบริการ) บางทีภาษีที่จ่ายไปล่วงหน้า หรือที่ถูกหักเอาไว้ มีมูลค่าเป็นหลายแสน หรือเป็นหลักล้านบาท การขอคืนภาษีจากสรรพากรจึงเป็นทางออกที่ดี ที่กิจการจะได้รับเงินคืนกลับมาเพื่อนำมาใช้ในการหมุนเวียนทางธุรกิจ
แต่ก่อนที่คุณจะขอคืนภาษีก็ต้องมั่นใจด้วยว่าการทำบัญชีของกิจการถูกต้อง ใครสนใจบริการทางด้านทำบัญชีดูรายละเอียดได้ที่นี่ : รับทำบัญชี