ภงด 50 คืออะไร ฉบับเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่

ปกบทความภงด 50 คืออะไร ฉบับเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่

สารบัญ

บทนำ :

  1. ภงด 50 คืออะไร?
  2. ความสำคัญของการยื่น ภงด 50
  3. ใครบ้างที่ต้องยื่น ภงด 50?

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการยื่น ภงด 50 :

  1. กำหนดเวลาในการยื่น ภงด 50
  2. ภงด 50 และ ภงด 51 แตกต่างกันอย่างไร

หลักการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล อธิบายตาม ภงด 50 :

  1. หลักการคำนวณภาษีใน ภงด 50
  2. ตัวอย่างการคำนวณภาษีใน ภงด 50

ขั้นตอนการยื่น ภงด 50 :

  1. วิธีการยื่นแบบ ภงด 50
  2. สรุป

ภงด 50 คืออะไร?

           ภงด 50 คือแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ประจำปี ซึ่งเกือบทุกๆนิติบุคคลจะต้องยื่นแบบ ภงด 50 เพื่อนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากร หากมีกำไรที่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี

          ตามกฎหมายนิติบุคคลจะต้องยื่นแบบ ภงด 50 ปีละ 1 ครั้ง เพื่อสรุปยอดรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรทางภาษี และยอดภาษีที่ต้องชำระให้แก่สรรพากร

          ท่านใดที่ยังสงสัยเกี่ยวกับเรื่องภาษีตัวนี้ มาอ่านบทความนี้กันก่อนนะ : ภาษีเงินได้นิติบุคคล สรุปความเข้าใจในหน้าเดียว

ความสำคัญของการยื่น ภงด 50

          ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า นิติบุคคลจะต้องยื่นแบบ ภงด 50 ปีละ 1 ครั้ง เพื่อสรุปยอดรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรทางภาษี และยอดภาษีที่ต้องชำระให้แก่สรรพากร เงินได้ที่รับเข้ามานี้รัฐบาลจะนำมาใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี

          ความสำคัญอีกด้านหนึ่งเป็นต่อตัวนิติบุคคลเอง เนื่องจากการไม่ยื่น ภงด 50 นั้นมีบทลงโทษที่ต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังนี้

  1. ค่าปรับ : ค่าปรับแบบไม่เกิน 2,000 บาท + ค่าปรับงบการเงิน ไม่เกิน 2,000 บาท (รวมเป็นไม่เกิน 4,000 บาท)
  2. เงินเพิ่ม (กรณีมีภาษีต้องชำระ) ร้อยละ 5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องเสีย

ใครบ้างที่ต้องยื่น ภงด 50?

 โดยทั่วไปแล้ว นิติบุคคลที่ต้องยื่นแบบ ภงด 50 ก็จะมีดังต่อไปนี้

  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ยกตัวอย่างเช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เป็นต้น
  2. นิติบุคคลต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
  3. กิจการร่วมค้า เนื่องจากกิจการร่วมค้าถือเป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

กำหนดเวลาในการยื่น ภงด 50

          นิติบุคคลจะต้องยื่น ภงด 50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งจะเห็นได้ว่าจุดนี้จะแตกต่างจาก ภงด 51 ที่กำหนดว่าจะต้องยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับจากวันครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี แต่หากเป็นเรื่องของ ภงด 50 จะกำหนดเป็นวันที่ 150 วัน วิธีในการนับวันครบกำหนดเวลาในการยื่นแบบเป็นดังนี้

  1. หากรอบบัญชี 31 ธันวาคม และปีนั้นเดือน กุมภาพันธ์ มี 28 วัน วันสุดท้ายในการยื่นแบบ ภงด 50 คือวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป หากยื่นผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็จะบวกเพิ่มได้อีก 8 วัน
  2. หากรอบบัญชี 31 ธันวาคม และปีนั้นเดือน กุมภาพันธ์ มี 29 วัน วันสุดท้ายในการยื่นแบบ ภงด 50 คือวันที่ 29 พฤษภาคม ของปีถัดไป หากยื่นผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็จะบวกเพิ่มได้อีก 8 วัน

ภงด 50 และ ภงด 51 แตกต่างกันอย่างไร

          ความแตกต่างของแบบ ภงด 50 และ ภงด 51 คือแบบ ภงด 50 เป็นแบบยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี แต่แบบ ภงด 51 เป็นแบบยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี

          นอกจากนี้ รูปแบบและวิธีการในการคำนวณภาษีก็จะมีความแตกต่างกันในบางกรณี กล่าวคือ หากเป็นการยื่นแบบ ภงด 50 ตัวเลขที่จะนำมาใช้ในการคำนวณนั้นจะเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงทั้งปี แต่หากเป็นการยื่นแบบ ภงด 51 ในบางกรณี (เช่น กรณี หจก. บจก. เป็นต้น) ตัวเลขที่จะนำมาใช้ในการคำนวณนั้นจะเป็นตัวเลขประมาณการทั้งปีแล้วนำมาหารสอง (ไม่ใช่ตัวเลขจริงแต่เป็นตัวเลขประมาณการ)

          ใครที่ต้องการศึกษาวิธีการคำนวณ ภงด 51 สามารถอ่านได้ที่นี่ : ภงด51 คืออะไร และผู้ประกอบการควรระวังจุดไหนบ้าง 

หลักการคำนวณภาษีใน ภงด 50

วิธีการคำนวณภาษีเพื่อยื่น ภงด 50 สามารถอธิบายขั้นตอนการคำนวณดังนี้

1.ขั้นแรกเราจะตั้งแถวตัวเลข รายได้ ค่าใช้จ่าย ต่างๆตามงบการเงิน ดังนี้

หลักการคำนวณภาษีใน ภงด 50

 

          ตัวเลขทั้งหมดตามตารางข้างต้น จะเป็นตัวเลขทางบัญชี ซึ่งมาจากงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีเซ็นรับรอง อย่างไรก็ตามในการคำนวณภาษีนั้นเราจะต้องใช้กำไรขาดทุนทางภาษีในการคำนวณ ดังนั้นจึงต้องมีการกระทบยอดรายการเพื่อปรับ กำไร (ขาดทุน) ทางบัญชี เพื่อให้เป็น กำไร (ขาดทุน) ทางภาษี

 

2.ขั้นที่สอง เราจะต้องกระทบยอดกำไรสุทธิทางบัญชี ให้เป็น กำไรสุทธิทางภาษี ตามสูตรดังนี้

ตัวอย่างตารางหลักการคำนวณภาษีใน ภงด 50 ขั้น 2 ต้องกระทบยอดกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษี

 

          เหตุผลที่ต้องมีการกระทบยอดตามขั้นตอนที่ 2 เนื่องจาก มีความแตกต่างกันในการรับรู้ รายได้ และ ค่าใช้จ่าย ระหว่างทางบัญชีและทางภาษี จึงต้องมีการกระทบยอดกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีนั่นเอง

          ท่านใดต้องการทราบรายละเอียดในการกระทบยอดแต่ละตัวสามารถอ่านจากตรงนี้ได้ : วิธีกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้

ตัวอย่างการคำนวณภาษีใน ภงด 50

          บริษัท BMU จำกัด มีกำไรทางบัญชี 3,000,000 บาท มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญ (ค่าใช้จ่ายต้องห้าม) 10,000 บาท ค่ารับรองที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย (ค่าใช้จ่ายต้องห้าม) 5,000 บาท มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัทที่ บริษัท BMU จำกัด ถือหุ้นเกินกว่า 25% (รายได้ที่ได้รับการยกเว้น) 2,000 บาท มีขาดทุนสุทธิทางภาษียกมาไม่เกิน 5 ปีจำนวน 3,000 บาท สามารถแสดงตัวอย่างการคำนวณภาษีได้ดังนี้

ตัวอย่างตารางการคำนวณภาษีใน ภงด 50

เมื่อได้กำไรสุทธิทางภาษีแล้วก็ให้นำมาคูณกับอัตราภาษี ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ

กรณีที่เป็น SME :

ตัวอย่างตารางเมื่อได้กำไรสุทธิทางภาษีกรณีที่เป็น SME

กรณีที่เป็น Non SME :

         หากเป็น Non SME ก็เอากำไรทางภาษีคูณอัตราภาษี 20% ได้เลยดังนี้ : 3,010,000 x 20% = 602,000 บาท

          ท่านใดที่ยังสงสัยเกี่ยวกับเรื่องอัตราภาษี มาอ่านบทความนี้กันก่อนนะ : ภาษีเงินได้นิติบุคคล สรุปความเข้าใจในหน้าเดียว

วิธีการยื่นแบบ ภงด 50

          ในปัจจุบันเราจะยื่น ภงด.50 ในรูปแบบกระดาษ หรือแบบออนไลน์ก็ได้ ตัวอย่างที่จะแสดงต่อไปนี้จะเป็นรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากเป็นที่นิยมมากกว่า โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

1.เข้าสู่ระบบ E-Filing โดยให้ใส่ Username และ Password ของนิติบุคคล

ขั้นตอนที่ 1 การกรอกแบบ ภงด 50

2.เลือกยื่นแบบ ภงด 50

ขั้นตอนที่ 2 การกรอกแบบ ภงด 50

3.เลือกรอบระยะเวลาบัญชี , สถานภาพของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และลำดับการยื่นแบบ

ขั้นตอนที่ 3 การกรอกแบบ ภงด 50

4.ถัดมาให้เลือกสถานะการกรอก โดยแบ่งเป็น 3 กรณีดังนี้

  •  กรณีเป็นบริษัทที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมด(กรอกช่อง 1) : สำหรับกิจการที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี BOI
  • กรณีเป็นบริษัทที่ต้องเสียภาษีเงินได้ทั้งหมด(กรอกช่อง 2) : สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี BOI (Non BOI)
  • กรณีเป็นบริษัทประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้(กรอกช่อง 1 และ 2) : สำหรับบริษัทที่มีทั้งกิจการ BOI และ Non BOI

      หลังจากนั้นให้เลือกรหัสกิจการที่เราประกอบอยู่ โดยใช้รหัสเดียวกับรหัส TSIC ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แล้วกด ถัดไป

ขั้นตอน 4 การกรอกแบบ ภงด 50

5.ถัดมาระบบจะให้เรากรอกข้อมูลตามงบการเงิน โดยให้กรอกข้อมูลดังนี้

  • รายได้ตรงจากการประกอบกิจการ
  • ต้นทุนขายหรือรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรขั้นต้น
  • กำไร/ขาดทุนขั้นต้น
  • รายได้อื่น
  • รายจ่ายอื่น
  • รายจ่ายในการขายและบริหาร
  • กำไร/ขาดทุนสุทธิ

       โดยข้อมูลในแต่ละส่วน ระบบจะให้กรอกข้อมูลตามงบทดลองตามที่ฝ่ายบัญชีปิดงบมาให้ การใส่รายละเอียดต่างๆให้ไปคลิกที่ “ระบุข้อมูล”

ขั้นตอน 5 การกรอกแบบ ภงด 50

6.เมื่อได้กำไรสุทธิทางบัญชีแล้ว ก็ให้กรอกข้อมูลการกระทบยอดจากกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษี โดยการใส่รายละเอียดย่อยต่างๆให้คลิกที่ “ระบุข้อมูล”

ขั้นตอนที่ 6 การกรอกแบบ ภงด 50

7.หลังจากที่ได้กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็ให้กรอกระบุอัตราภาษีที่กิจการต้องเสีย และระบบก็จะคำนวณภาษีออกมาให้อัตโนมัติ

ขั้นตอนที่ 7 การกรอกแบบ ภงด 50

8.หลังจากได้ตัวเลขภาษีออกมาแล้ว ก็มากรอกรายการหัก เช่น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไปแล้ว หรือ ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่จ่ายไปแล้ว เป็นต้น หักออกมาได้เท่าใด คือตัวเลขภาษีที่ต้องเสียตาม ภงด 50 นั่นเอง เมื่อกรอกเสร็จแล้ว ให้กด ถัดไป

ขั้นตอนที่ 8 การกรอกแบบ ภงด 50

9.ต่อมาก็ให้กรอกตัวเลขสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น/ผู้เป็นหุ้นส่วน โดยให้กดไปที่ “ระบุข้อมูล” และให้กรอกความเห็นในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชี หรือของผู้สอบบัญชีภาษีอากร

ขั้นตอนที่ 9 การกรอกแบบ ภงด 50

10.หลังจากนั้นก็ให้กรอกว่ากิจการของเราเป็นกิจการที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ และให้กรอกรายละเอียดของผู้สอบบัญชี และผู้ทำบัญชี

ขั้นตอนที่ 10 การกรอกแบบ ภงด 50

11.หลังจากนั้นก็ให้กรอกแบบแจ้งข้อความของกรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ ให้ครบถ้วน

ขั้นตอนที่ 11 การกรอกแบบ ภงด 50

12.สุดท้ายให้กรอกส่วนของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี รวมถึงวันที่ตามหน้ารายงานของผู้สอบบัญชี แล้วกดถัดไป ยื่นแบบ และจ่ายภาษีตามลำดับ เป็นอันเสร็จขั้นตอนในการยื่น ภงด 50

ขั้นตอน 12 การกรอกแบบ ภงด 50

สรุป

          แบบ ภงด 50 เป็นแบบที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ประจำปี จึงมีความสำคัญมากที่ผู้ประกอบการและนักบัญชีต้องมีความเข้าใจในการยื่นแบบ ภาษีดังกล่าว เพื่อให้เสียภาษีต่างๆได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.