สารบัญ
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
- ประโยชน์ของภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- ใครต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- ประเภทเงินได้ที่ต้องหัก และอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- ตัวอย่างการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- ขั้นตอนในการหักภาษี ณ ที่จ่าย
- แบบภาษีที่ใช้ในการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- สรุป
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีที่ผู้จ่ายเงิน (บุคคล หรือ นิติบุคคล) ต้องหักเงินออกจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำส่งภาษีให้แก่สรรพากร หากเงินได้ที่จ่ายนั้นเข้าลักษณะที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมายภาษีอากร (ส่วนใหญ่จะเป็นค่าบริการที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ส่วนการซื้อขายสินค้า ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย)
ประโยชน์ของภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะค่อนข้างมีประโยชน์กับกระแสเงินสดกับรัฐบาล เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องนำส่งหัก ณ ที่จ่ายเป็นรายเดือน หากมีรายจ่ายที่เข้าลักษณะที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย จึงทำให้รัฐมีกระแสเงินสดค่าภาษีเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อนำมาใช้ในการบริหารประเทศ
นอกจากนี้ในมุมของผู้ที่มีรายรับ การเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายเปรียบเสมือนกับการทยอยชำระภาษีให้แก่รัฐบาล ทำให้ตอนปลายปีผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับภาระภาษีบุคคลธรรมดา หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลคราวละมากๆ เนื่องจากได้ทยอยจ่ายภาษีไปแล้วจากการถูกหัก ณ ที่จ่าย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : คู่มือการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ใครต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ผู้มีรายได้เป็นผู้ที่รับภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยที่ผู้จ่ายค่าบริการจะเป็นผู้ที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป (หากยื่นด้วยระบบออนไลน์จะบวกเพิ่มได้อีก 8 วัน)
ประเภทเงินได้ที่ต้องหัก และอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย
สรุปประเภทของเงินได้ที่พบเจอบ่อย และต้องหัก ณ ที่จ่ายมีดังนี้
40(1) – เงินเดือนค่าแรงพนักงาน หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า (ผู้รับเป็นบุคคล)
40(2) – ค่าจ้างฟรีแลนซ์ หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(2) – ค่านายหน้า หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(3) – ค่าลิขสิทธิ์ หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(4) – ดอกเบี้ย หัก ณ ที่จ่าย 15% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 1% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(4) – เงินปันผล หัก ณ ที่จ่าย 10% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 10% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(5) – ค่าเช่าทรัพย์สิน หัก ณ ที่จ่าย 5% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 5% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(6) – บริการวิชาชีพเฉพาะ เช่น หมอ ทนาย หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(6) – ค่าสอบบัญชี ค่าทำบัญชี หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(7) – ค่ารับเหมา เช่น การก่อสร้าง (มีต้นทุนวัตถุดิบ) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(8) – ค่าบริการทั่วไป รับเหมาค่าแรง รับจ้างทำของ หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(8) – ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย หัก ณ ที่จ่าย 1% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(8) – ค่าโฆษณา หัก ณ ที่จ่าย 2% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 2% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(8) – ค่าขนส่ง หัก ณ ที่จ่าย 1% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 1% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(8) – ค่าจ้างทำของ หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
40(8) – ค่าส่งเสริมการขาย หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นบุคคล) หัก ณ ที่จ่าย 3% (ผู้รับเป็นนิติบุคคล)
ตัวอย่างการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย
สูตรในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นดังต่อไปนี้
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = ค่าใช้จ่ายที่ต้องหัก x อัตราภาษี ณ ที่จ่าย
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BMU จำกัด ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่บริษัท ABC จำกัด เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งการเช่าที่ดินมีอัตราหัก ณ ที่จ่าย 5%
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = ค่าใช้จ่ายที่ต้องหัก x อัตราภาษี ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = 20,000 บาท x 5% = 1,000 บาท
ขั้นตอนในการหักภาษี ณ ที่จ่าย
- เมื่อ บริษัท BMU จำกัด ผู้จ่ายตกลงจ่ายเงินค่าเช่าที่ดินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท ABC จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเงิน ผู้จ่ายเงินก็ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้รับ 19,000 บาท โดยหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ 1,000 บาท (5% ของยอดค่าเช่า)
- บริษัท BMU จำกัด ผู้จ่ายเงินต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ บริษัท ABC จำกัด ผู้รับเงินจำนวน 1,000 บาท เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้รับเงินได้ถูกหักภาษีไป แล้วผู้รับเงินสามารถนำเอาภาษีที่ถูกหักไปนี้ไปเป็นเครดิตภาษีตอนปลายปีได้
- บริษัท BMU จำกัด ผู้จ่ายเงินต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 1,000 บาท ให้แก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป (หากนำส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สามารถบวกเพิ่มได้อีก 8 วัน)
แบบภาษีที่ใช้ในการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภงด.1 – กรณีผู้รับเงินเป็นบุคคลที่มีเงินได้ 40(1) และ 40(2)
ภงด.2 – กรณีผู้รับเงินเป็นบุคคลที่มีเงินได้ 40(3) และ 40(4)
ภงด.3 – กรณีผู้รับเงินเป็นบุคคลที่มีเงินได้ 40(5) – 40(8)
ภงด.53 – กรณีผู้รับเงินเป็นนิติบุคคล
ดูรายละเอียดประเภทของเงินได้ที่ : ประเภทเงินรายได้ที่ต้องเสียภาษี
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายประเภทต่างๆ :
สรุป
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีที่ทำผิดกันค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการจัดทำบัญชีเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถหักและนำส่งภาษีได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรศึกษาภาษีดังกล่าวอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบถึงอัตราในการหักภาษีและนำส่งภาษีได้อย่างถูกต้อง