สารบัญ
- ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?
- เหตุใดจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม?
- อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน
- ใครต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม?
- ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม?
- วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
- จุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point)
- สรุป
ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ การเรียกเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ทั้งที่ผลิต ขาย ในประเทศ และนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
หลักการในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการเสียภาษีทางอ้อม หมายความว่าผู้บริโภคสินค้า บริการ ซึ่งเป็นผู้ที่รับภาระภาษี (ยิ่งบริโภคมากก็ต้องรับภาษีมาก) แต่ไม่ได้เป็นผู้ยื่นเสียภาษีโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการจะเป็นผู้เรียกเก็บภาษีจากผู้บริโภค และยื่นเสียภาษีแทนผู้บริโภค นั่นเอง

เหตุใดจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat เป็นภาษีที่มีความสำคัญอย่างมาก และมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนี้
1.เป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาล
- รายได้จากภาษีดังกล่าวนั้นเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับรัฐบาล เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนในประเทศนั้นอยู่ดีกินดี
2.ช่วยในการกระจายภาระภาษี
- ตามที่ได้อธิบายไปแล้วว่าผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงคือผู้บริโภค ผู้ใดที่บริโภคมากก็จะต้องเสียภาษีมาก ผู้ใดบริโภคน้อยก็จะเสียภาษีน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการชำระภาษีด้วยระบบดังกล่าวนั้นช่วยในการกระจายภาระภาษีไปให้แก่ประชาชนในประเทศได้อย่างเท่าเทียมตามฐานการบริโภคของแต่ละคน ไม่กระจุกตัวการเสียภาษีที่คนบางกลุ่ม เหมือนกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่ 10% อย่างไรก็ตาม ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ในปัจจุบันอัตราภาษีดังกล่าวนั้นอยู่ที่ 7% และใช้อัตรานี้มาหลายปีแล้ว
ใครต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม?
- ผู้ประกอบการ (ทั้งบุคคลและนิติบุคคล) ที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ เกินกว่า 1.8 ล้านบาท / ปี จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน
- ผู้ประกอบการ (ทั้งบุคคลและนิติบุคคล) ที่มีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้มีการดำเนินการ และเตรียมการประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้า หรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีดังกล่าว เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน การก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ
- ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระ โดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจดทะเบียน
ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม?
อย่างไรก็ตาม มีบางธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจด Vat ถึงแม้ว่ารายได้จะเกินตามที่กฎหมายกำหนด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มดังต่อไปนี้
- เป็นธุรกิจได้ที่รับการยกเว้น Vat แต่สามารถเลือกเข้าระบบ Vat ได้
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
- การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
- เป็นธุรกิจได้ที่รับการยกเว้น Vat และไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเข้าระบบ Vat
- การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ
- การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา
- การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ
- การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล
- การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ
- การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
- การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
- การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
- การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
- การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล
- การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
- การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น
- การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
- การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
- การขายสินค้าหรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากสรรพากรได้ที่ : ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้น Vat ตามกฎหมาย
วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
การจดทะเบียน Vat มี 2 วิธี คือ
- ยื่นแบบคำขอผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
- ยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่
สำหรับเอกสารที่ใช้ในการจด Vat สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ : เอกสารประกอบการจด Vat

วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
หลักการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งมีดังนี้

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BMU จำกัด มียอดขาย 200 บาท ภาษีขาย 14 บาท (200 x 7%) มียอดซื้อ 100 บาท ภาษีซื้อ 7 บาท (100 x 7%) สามารถคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งได้ดังนี้
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง = 14 – 7 = 7 บาท
ผู้ประกอบการจะต้องนำส่ง Vat ด้วยแบบ ภพ 30 ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : ภพ 30 คืออะไร? วิธีการกรอกแบบและยื่นแบบ
จุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point)
จุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง จุดเวลาที่ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจุดที่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ดังนี้
สิทธิ : การเรียกเก็บ Vat จากผู้ซื้อและผู้รับบริการ
หน้าที่ :
- จัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ หรือ ผู้รับบริการ
- นำยอดขาย ภาษีขาย ไปลงในรายงานภาษีขาย
- นำส่ง Vat ให้แก่กรมสรรพากร
จุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ Tax point นั้น มี 3 จุดดังนี้ โดยจุดใดเกิดขึ้นก่อน จะถือว่าจุดนั้นเกิดจุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point) ขึ้น
- มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
- ได้รับชำระราคาสินค้า
- ได้ออกใบกำกับภาษี
จากจุดความรับผิดข้างต้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจการขายสินค้า กับ ธุรกิจการให้บริการ จะมีจุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกัน ดังนี้
ธุรกิจการขายสินค้า : จุดความรับผิด (Tax point) จะเกิดขึ้นตอนส่งสินค้าทำให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้นเอกสารทางบัญชีที่เรามักจะเห็นกันตอนส่งสินค้าคือ “ใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี”
ธุรกิจการให้บริการ : จุดความรับผิด (Tax point) จะเกิดขึ้นตอนได้รับชำระเงินค่าสินค้า ดังนั้นเอกสารทางบัญชีที่เรามักจะเห็นกันตอนได้รับเงินคือ “ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี” นั่นเอง
สรุป
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เป็นภาษีอีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากหากผู้ประกอบการทำผิดในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ค่อนข้างรุนแรง สามารถทำให้ผู้ประกอบกิจการต้องปิดกิจการกันไปหลายรายเพราะความไม่รู้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นการช่วยปูความรู้พื้นฐานให้ทุกท่านนะครับ