สารบัญ
บทนำ
รายละเอียดของ ภงด 90
- ประเภทของเงินได้ที่ต้องยื่น ภงด 90
- เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่น ภงด 90
- วิธีการคำนวณภาษีและกรอกแบบ ภงด 90
- กำหนดเวลาและช่องทางในการยื่นแบบ ภงด 90
- สรุป
ภงด 90 คืออะไร?
ภงด 90 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) – 40(8) หลายประเภท หรือประเภทเดียว (ที่ไม่ใช่ 40(1) เพราะหากมีเงินได้ 40(1) ประเภทเดียวต้องยื่นแบบ ภงด 91)
ดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่าง ภงด 90 จากสรรพากร :
ความสำคัญของการยื่น ภงด 90
เป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้นั้นมาบริหารประเทศ เพื่อให้ประเทศของเรานั้นเจริญยิ่งขึ้น
ใครบ้างที่ต้องยื่น ภงด 90
ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด 90 คือผู้ที่มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) – 40(8) หลายประเภท หรือประเภทเดียว (ที่ไม่ใช่ 40(1) ประเภทเดียว) ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่เป็นโสดและมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
- ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
- ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
- คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน60,000 บาท
ประเภทของเงินได้ที่ต้องยื่น ภงด 90
เงินได้ที่ต้องยื่นเสียภาษีใน ภงด 90 ก็คือเงินได้ 8 ประเภทดังนี้
40(1) – เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
40(2) – เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
40(3) – ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
40(4) – ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น
40(5) – เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
40(6) – เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
40(7) – เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
40(8) – เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน 40(1) – 40(7)
เรียนรู้เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินเพิ่มเติมที่นี่ : เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทมีอะไรบ้าง
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่น ภงด 90
หากผู้มีเงินได้ยื่นแบบ ภงด 90 ด้วยแบบกระดาษก็จะต้องกรอกแบบภาษีไปให้เรียบร้อย พร้อมบัตรประชาชนของผู้มีเงินได้ นอกจากนี้หลังจากได้ยื่นแบบภาษีไปแล้ว ผู้มีเงินได้ก็จะต้องเตรียมเอกสารเหล่านี้เก็บเอาไว้เผื่อถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเรียกตรวจ
- เอกสารแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ
- เอกในการลดหย่อนภาษี ยกตัวอย่างเช่น
- ทะเบียนสมรส ใบสูติบัตรของบุตร
- ใบเสร็จค่าเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ
- หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมธนาคาร
- ใบเสร็จรับเงินซื้อกองทุนต่างๆที่นำมาลดหย่อนภาษี
- หลักฐานในการบริจาค
- รายงานเงินสดรับ-จ่าย
วิธีการคำนวณภาษีและกรอกแบบ ภงด 90
ภงด 90 หน้าที่ 1
- ให้กรอก ชื่อ-นามสกุลของผู้มีเงินได้ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และระบุว่าเป็นการยื่นปกติหรือการยื่นเพิ่มเติม
- ให้กรอก ชื่อ-นามสกุลของคู่สมรส เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ระบุสถานภาพของการสมรส และสถานะในการยื่นแบบ
- เซ็นรับรองในแบบ ภงด 90
- เมื่อกรอกข้อมูลและคำนวณภาษีในหน้าอื่นๆเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมากรอกยอด ภาษีที่ชำระเพิ่มเติม หรือ ภาษีที่ชำระไว้เกิน และหากต้องการขอคืนเงินต้องมากรอกและเซ็นในช่องคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วย
ภงด 90 หน้าที่ 2
ข้อ 1 รายการเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (1) (2)
ให้กรอกข้อมูลดังนี้
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้นี้สูงสุดให้แก่ผู้เสียภาษี
- รายละเอียดและจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ 40(2)
- กรอกค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้อง เช่น เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสม กบข. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นต้น
- กรอกค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ (ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
ข้อ 2 รายการเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (3)
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้นี้สูงสุดให้แก่ผู้เสียภาษี
- รายละเอียดและจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3)
- กรอกค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ (แบบเหมา ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักตามจริง)
ข้อ 3 รายการเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (4)
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้นี้สูงสุดให้แก่ผู้เสียภาษี
- รายละเอียดและจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)
- ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายใดๆได้
ข้อ 4 รายการเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (5)
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้นี้สูงสุดให้แก่ผู้เสียภาษี
- รายละเอียดและจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)
- กรอกค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ (จะหักแบบเหมาหรือหักตามจริงก็ได้ หากเลือกแบบเหมาต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด)
ภงด 90 หน้าที่ 3
ข้อ 5 รายการเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (6)
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้นี้สูงสุดให้แก่ผู้เสียภาษี
- รายละเอียดและจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6)
- กรอกค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ (แบบเหมา หากเป็นการประกอบโรคศิลป หักได้ร้อยละ 60 หากเป็นวิชาชีพอื่นๆหักได้ร้อยละ 30 หรือหักตามจริง)
ข้อ 6 รายการเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (7)
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้นี้สูงสุดให้แก่ผู้เสียภาษี
- รายละเอียดและจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7)
- กรอกค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ (แบบเหมา หักได้ร้อยละ 60 หรือหักตามจริง)
ข้อ 7 รายการเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 (8)
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้นี้สูงสุดให้แก่ผู้เสียภาษี
- รายละเอียดและจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)
- กรอกค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ (จะหักแบบเหมาหรือหักตามจริงก็ได้ หากเลือกแบบเหมาต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด)
เรียนรู้เกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทได้ที่บทความนี้ : บุคคลธรรมดาหักค่าใช้จ่ายอย่างไรในการคำนวณภาษี
ภงด 90 หน้าที่ 4
ข้อ 8 รายการเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร และเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ
กรณีผู้เสียภาษีมีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก อสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร และต้องการเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวม คำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ หากมีความประสงค์จะขอหักค่าใช้จ่ายตามจริง ให้กรอกรายการแสดงการคำนวณภาษีให้ ครบถ้วนชัดเจน ดังนี้
- จำนวนเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์
- ค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร
- จำนวนปีที่ถือครอง
- ภาษีที่ต้องชำระ
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
- ชำระเพิ่มเติม / ชำระไว้เกิน
ข้อ 9 เงินได้จากการให้หรือการรับ (โดยเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (26) (27) (28))
ให้กรอกรายละเอียดของจำนวนเงินได้ และจำนวนภาษีดังนี้
- เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์/สิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 42 (26)
- เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ/จากการให้โดยเสน่หาจากบุพการีตามมาตรา 42 (27)
- เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา/จากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี/ ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามมาตรา 42 (28)
ข้อ 10 เงินได้พึงประเมินที่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น
ข้อ 11 การคำนวณภาษี
- กรอกเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย ซึ่งมาจากการคำนวณในข้อที่ 1-7
- กรอกค่าลดหย่อน (นำตัวเลขมาจาก ใบแนบแสดงรายละเอียดค่าลดหย่อน ซึ่งเป็นเอกสารหน้าที่ 5 ในแบบ ภงด 90)
- กรอกยอดคงเหลือ (เงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย) – (ค่าลดหย่อน)
- กรอกยอด เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/อื่นๆ ที่สามารถหักได้เพิ่มเติม (2 เท่าของจำนวนที่จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของข้อ 3
- กรอกยอดคงเหลือ (เงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย) – (ค่าลดหย่อน) – (เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/อื่นๆ)
- กรอกยอด เงินบริจาคที่สามารถหักได้เพิ่มเติม (ไม่เกินร้อยละ 10 ของข้อ 5)
- กรอกยอดเงินได้สุทธิ (เงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย) – (ค่าลดหย่อน) – (เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/อื่นๆ) – (เงินบริจาค)
- คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิด้วยอัตราก้าวหน้า
- คำนวณเปรียบเทียบภาษีด้วยวิธีเงินได้พึงประเมิน (ร้อยละ 0.5)
- กรอกยอด ภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ (เลือกจำนวนที่มากกว่าระหว่างข้อ 8 หรือ ข้อ 9)
- กรอกภาษีที่ต้องชำระจากใบแสดงเงินได้ฯ ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (ถ้ามี)
- กรอกยอดรวม ภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ
- กรอกยอดที่สามารถนำมาหักภาษีได้ เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, เครดิตภาษี, ภาษีที่ชำระไว้แล้วตามแบบ ภงด.93 ภงด.94 เป็นต้น
- ข้อ 14-23 ให้กรอกยอดภาษีที่ชำระเพิ่มเติม หรือชำระไว้เกิน และให้กรอกตัวเลขภาษีที่ชำระเพิ่มเติม หรือชำระไว้เกิน ดังกล่าวเอาไว้หน้าที่ 1
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณภาษี : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร
ภงด 90 หน้าที่ 5 ใบแนบแสดงรายละเอียดรายการลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย
ในส่วนนี้ให้กรอกรายละเอียดค่าลดหย่อนทั้งหมดที่ผู้เสียภาษีมี
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าลดหย่อน : อัพเดทการหักค่าลดหย่อนบุคคลธรรมดาปี 2567
กำหนดเวลาและช่องทางในการยื่นแบบ ภงด 90
ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบ ภงด 90 และชำระภาษี (ถ้ามี) ของรอบปีบัญชี ภายในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป สำหรับช่องทางในการยื่นแบบมี 2 ทางหลักๆ ดังนี้
- ยื่นแบบ ภงด 90 เป็นกระดาษที่กรมสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาของผู้มีเงินได้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ได้อธิบายไปในบทความนี้ หรือส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียน
- ยื่นแบบ ภงด 90 ผ่านระบบออนไลน์ของสรรพากร
สรุป
ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) – 40(8) หลายประเภท หรือประเภทเดียว ที่ไม่ใช่ 40(1) จะต้องยื่นแบบ ภงด 90 ซึ่งแบบภาษีดังกล่าวมีขั้นตอนและวิธีการในการกรอกแบบที่มีความยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร ดังนั้นเราจึงควรศึกษาทั้งวิธีในการคำนวณภาษีและวิธีในการกรอกแบบให้ถูกต้อง เพื่อการเสียภาษีที่ถูกต้อง