อากรแสตมป์คืออะไร? การปิดอากรแสตมป์สำหรับตราสารแต่ละประเภท

ปกบทความ อากรแสตมป์คืออะไร
icon รับทำบัญชี
icon ดูรีวิวจากลูกค้า
icon กระดานสอบถามปัญหาภาษี
icon ติดต่อ Line

สารบัญ

  1. อากรแสตมป์คืออะไร?
  2. ลักษณะของตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์และอัตราภาษี
  3. ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์
  4. วิธีการเสียอากรแสตมป์
  5. การขีดฆ่าอากรแสตมป์
  6. ข้อเสียของตราสารหากไม่ปิดอากรแสตมป์
  7. อากรแสตมป์ VS แสตมป์ไปรษณีย์ : ความแตกต่างที่ต้องรู้
  8. สรุป

อากรแสตมป์คืออะไร?

        อากรแสตมป์ คือ ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง ซึ่งจัดเก็บจากการจัดทำตราสาร 28 ประเภท ที่กฎหมายกำหนดให้เสียภาษี โดยทั่วไปแล้วตราสารที่ติดอากรแสตมป์เท่านั้นจึงจะสามารถบังคับใช้ตามกฎหมายและเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้

เรียนรู้เพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลของสรรพากร: อากรแสมป์

ลักษณะของตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์และอัตราภาษี

ลักษณะของตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์มีทั้งหมด 28 ประเภทดังนี้

    1. เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ
    2. โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ พันธบัตรและใบรับรองหนี้ ซึ่งบริษัท สมาคม คณะบุคคลหรือองค์การใด ๆ เป็นผู้ออก
    3. เช่าซื้อทรัพย์สิน
    4. จ้างทำของ
    5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร
    6. กรมธรรม์ประกันภัย
    7. ใบมอบอำนาจ
    8. ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท
    9. ตั๋วแลกเงิน / ตั๋วสัญญาใช้เงิน
    10. บิลออฟเลดิง
    11. ใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้ หรือใบรับรองหนี้ของบริษัท สมาคม คณะบุคคล หรือองค์การใดๆ
    12. เช็ค หรือหนังสือคำสั่งใด ๆ ซึ่งใช้แทนเช็ค
    13. ใบรับฝากเงินประเภทประจำของธนาคารโดยมีดอกเบี้ย
    14. เลตเตอร์ออฟเครดิต
    15. เช็คสำหรับผู้เดินทาง
    16. ใบรับของซึ่งออกให้เนื่องในกิจการรับขนสินค้าโดยทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ คือตราสารซึ่งลงลายมือชื่อพนักงานหรือนายสินค้าของยานพาหนะรับขนส่ง ซึ่งออกรับของดังระบุไว้ในใบรับนั้น เมื่อไม่ได้ออกบิลออฟเลดิง
    17. ค้ำประกัน
    18. จำนำ
    19. ใบรับของคลังสินค้า
    20. คำสั่งให้ส่งมอบของคือ ตราสารซึ่งบุคคลผู้ปรากฏชื่อในตราสารนั้น หรือซึ่งบุคคลผู้นั้นตราชื่อไว้ หรือผู้ทรงมีสิทธิที่จะรับมอบสินค้าอันอยู่ในอู่ หรือเมืองท่า หรือคลังสินค้าซึ่งรับเก็บหรือรับฝากโดยเรียกเก็บค่าเช่าหรือรับสินค้าอันอยู่ที่ท่าสินค้าโดยที่เจ้าของลงลายมือชื่อ หรือมีผู้อื่นลงลายมือชื่อแทนในเมื่อขายหรือโอนทรัพย์สินอันปรากฎในตราสารนั้น
    21. ตัวแทน
    22. คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
    23. คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร
    24. หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน
    25. ข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน
    26. ข้อบังคับใหม่หรือสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทจำกัดซึ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ส่งต่อนายทะเบียน
    27. หนังสือสัญญาห้างหุ้นส่วน
    28. ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาล / ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ / ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ

สำหรับ อัตราภาษีของอากรแสตมป์ สามารถสรุปได้ตามตารางดังนี้

อัตราอากรแสตมป์ หน้าที่ 1 จัดทำโดย BMU
อัตราอากรแสตมป์ หน้าที่ 2 จัดทำโดย BMU
อัตราอากรแสตมป์ หน้าที่ 3 จัดทำโดย BMU
อัตราอากรแสตมป์ หน้าที่ 4 จัดทำโดย BMU
อัตราอากรแสตมป์ หน้าที่ 5 จัดทำโดย BMU
อัตราอากรแสตมป์ หน้าที่ 6 จัดทำโดย BMU
อัตราอากรแสตมป์ หน้าที่ 7 จัดทำโดย BMU

ที่มาข้อมูลจากสรรพากร : ตารางตราสารสำหรับการยื่นแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน 

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์

         จากตารางตัวอย่างข้างต้นนี้ ผู้ที่มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์จะเป็นบุคคลตามที่ระบุเอาไว้อยู่ในช่องที่ 3 เช่น ผู้ให้เช่า ผู้โอน ผู้รับจ้าง ผู้ให้กู้ ผู้รับประกันภัย เป็นต้น

วิธีการเสียอากรแสตมป์

วิธีในการเสียภาษีอากรแสตมป์จะมีด้วยกันอยู่ 3 รูปแบบดังนี้

    1. แสตมป์ปิดทับกระดาษ : เป็นการนำอากรปิดทับไว้ที่ตราสาร/สัญญา ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด วิธีนี้เป็นที่นิยมกรณีที่จำนวนเงินที่ต้องปิดอากรนั้นไม่มากจนเกินไป
    2. แสตมป์ดุน : เป็นการเสียอากรโดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน (การดุนกระดาษตราสารให้เป็นรอยแสตมป์) และทำการขีดฆ่าแสตมป์ดุนนั้น โดยปกติวิธีนี้จะไม่นิยมทำกันแล้วในปัจจุบัน
    3. ชำระเป็นตัวเงิน : การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน วิธีนี้จะมีความสะดวกมากที่สุด โดยอากรที่มีจำนวนเงินค่อนข้างสูง อาจไม่สะดวกในการใช้ดวงแสตมป์อากรปิดบนตราสาร เป็นต้น

        ในการขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ให้ใช้แบบ อ.ส.4 (แบบขอและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน) โดยให้ยื่นต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย ให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่กรมรรพากร

การขีดฆ่าอากรแสตมป์

หากเป็นเรื่องของอากรแสตมป์จะต้องมีการขีดฆ่าตัวอากร เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถนำแสตมป์กลับมาใช้ได้อีก โดยวิธีการขีดฆ่ามี 2 รูปแบบคือ

    1. ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านหรือบริษัทลงบนแสตมป์
    2. ขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้

ข้อเสียของตราสารหากไม่ปิดอากรแสตมป์

        ตราสารใดหากอยู่ในข้อกำหนดที่ต้องปิดอากรแสตมป์ แต่ไม่ได้ปิดให้สมบูรณ์ บริษัทจะไม่สามารถใช้ตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีทางแพ่งได้ จนกว่าจะได้มีการเสียอากรให้ครบถ้วนเสียก่อน

อากรแสตมป์ VS แสตมป์ไปรษณีย์ : ความแตกต่างที่ต้องรู้

        หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าอากรแสตมป์ กับ แสตมป์ไปรษณีย์นั้นแตกต่างกัน อากรแสตมป์ต้องซื้อที่สรรพากรเอาไว้ใช้เพื่อปิดใน 28 ตราสารตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนแสตมป์ไปรษณีย์ต้องซื้อที่ไปรษณีย์ เอาไว้ใช้ปิดในซองจดหมายเพื่อส่ง นั่นเอง

รายการที่กิจการบันทึกแล้วแต่ธนาคารยังไม่บันทึก By BMU

สรุป

        ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จะพบว่ามีตราสารหลากหลายรูปแบบที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากเราไม่ปิดอากรให้ถูกต้อง บริษัทจะไม่สามารถใช้ตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีทางแพ่งได้ นอกจากนั้นกฎหมายยังห้ามเจ้าพนักงานรัฐบาลลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกสิ่งใด ๆ ในตราสาร ดังกล่าวด้วย จนกว่าจะได้มีการเสียอากรให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้ถูกต้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.