สารบัญ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลคืออะไร และเหตุผลที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเบื้องต้น
แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคลคืออะไร และเหตุผลที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด)โดยคำนวณจากฐานกำไรสุทธิทางภาษี (รายได้ทางภาษี – ค่าใช้จ่ายทางภาษี) เพื่อให้รัฐนำเงินภาษีที่เรียกเก็บนั้นมาใช้ในการบริหารประเทศ
ในความเป็นจริงภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณได้หลายแบบ เช่น กำไรสุทธิ รายได้ก่อนหักรายจ่าย เงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย การจำหน่ายกำไรไปนอกประเทศ ในบทความนี้จะเน้นอธิบายกรณีที่พบกันบ่อยที่สุดคือภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณจากกำไรสุทธิ
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
แน่นอนว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ต้องเรียกเก็บจากนิติบุคคล ดังนี้
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ยกตัวอย่างเช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เป็นต้น
- นิติบุคคลต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
- กิจการร่วมค้า
- กิจการของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งดำเนินการทางการค้าหรือหากำไร
- มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้
จะเห็นได้ว่าหากเราเป็นนิติบุคคลไทย หรือ เป็นนิติบุคคลต่างประเทศ แล้วมีการดำเนินธุรกิจ ดำเนินการทางการค้าหรือหากำไรในประเทศไทย ย่อมต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐไทย
ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล
ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล จะคำนวณจาก กำไรสุทธิทางภาษี ซึ่งหลายๆท่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องมีคำว่า “ทางภาษี” ต่อท้ายคำว่า “กำไรสุทธิ” ด้วย สาเหตุหลักเนื่องมาจากคำว่ากำไรสุทธินั้นจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบดังนี้
- กำไรสุทธิทางบัญชี : คำนวณจาก รายได้ – ค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์ทางบัญชี
- กำไรสุทธิทางภาษี : คำนวณจาก รายได้ – ค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์ทางภาษี
จริงๆแล้ว หลักเกณฑ์ทางบัญชี และ หลักเกณฑ์ทางภาษี มีความเหมือนกันคือ ใช้เกณฑ์คงค้าง (หรือเกณฑ์สิทธิ์) เหมือนกันกล่าวคือจะบันทึกรายการโดยยึดจากวันที่เกิดรายการ ไม่ได้ยึดจากวันที่ได้รับเงินหรือจ่ายเงิน ยกตัวอย่างเช่น หากเราขายสินค้าและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าวันที่ 31 มกราคม แต่ได้รับเงินในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ แบบนี้ก็จะต้องถือว่ารายได้จากการขาย เกิดขึ้นในเดือน มกราคม ที่มีการส่งมอบสินค้าซึ่งเป็นวันที่ได้โอนความเสี่ยงไปให้แก่ลูกค้า หรือกรณีเงินเดือนของเดือนมกราคม ที่จ่ายตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ แบบนี้ก็จะถือว่า ค่าใช้จ่ายเงินเดือนเกิดขึ้นในเดือน มกราคม ตามเกณฑ์คงค้าง
จุดที่แตกต่างที่สำคัญของหลักเกณฑ์ทางบัญชี กับ หลักเกณฑ์ทางภาษี เกิดจากทั้งทางฝั่งรายได้และฝั่งค่าใช้จ่ายกล่าวคือ
1. ความแตกต่างในฝั่งรายได้ จะมีรายได้บางรายการที่ทางบัญชีให้ถือเป็นรายได้ แต่สรรพากรให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรายได้ดังกล่าวไปคำนวณภาษี ยกตัวอย่างเช่น รายได้เงินปันผลที่เข้าหลักเกณฑ์การยกเว้นของสรรพากรเป็นต้น
สรุปรายได้ที่ได้รับการยกเว้นจาก ภงด.50 มีดังนี้
นอกจากนี้ยังมีรายได้บางประเภทที่ทางฝั่งบัญชีไม่ได้ถือเป็นรายได้ แต่ในทางภาษี สรรพากรให้ถือเป็นรายได้ ยกตัวอย่างเช่น การให้ยืมที่ดินหรืออาคาร ทางบัญชีอาจไม่ถือเป็นรายได้เนื่องจากไม่มีการทำธุรกรรมเงินจริง แต่ในทางภาษีสรรพากรมองว่าเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเป็นต้น
2.ความแตกต่างในฝั่งค่าใช้จ่าย โดยมากจะเป็นกรณีที่ในทางบัญชีบันทึกค่าใช้จ่าย แต่ในทางภาษีไม่สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้ (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าค่าใช้จ่ายต้องห้าม) ยกตัวอย่างเช่น ค่ารับรอง หนี้สูญ เงินสำรอง หรือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่มีเอกสารหลักฐานอย่างเพียงพอ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ในทางบัญชีบันทึกค่าใช้จ่าย แต่ในทางภาษีสามารถให้บันทึกค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น เช่น บันทึกรายจ่ายได้ 2 เท่าเป็นต้น รายจ่ายในลักษณะนี้เป็นรายจ่ายที่รัฐอยากส่งเสริมให้มีขึ้นโดยการให้บริษัทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มเติม
สรุปรายจ่ายที่สามารถหักได้เพิ่มเติม มีดังนี้
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย มี 2 กรณีด้วยกันคือ
1.นิติบุคคลที่เป็น SME อัตราภาษีจะเป็นดังนี้
กำไรสุทธิทางภาษีไม่เกิน 300,000 ยกเว้นภาษี
กำไรสุทธิทางภาษี 300,000 – 3,000,000 อัตราภาษี 15%
กำไรสุทธิทางภาษี มากกว่า 3,000,000 อัตราภาษี 20%
2.นิติบุคคลที่ไม่ใช่ SME (Non SME) อัตราภาษี 20%
จะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจเราเป็น SME หรือ Non SME ให้ดูจากรายได้และทุนชำระแล้ว หากรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท จะถือว่าเป็น SME ใช้อัตราภาษีแบบ SME โดยไม่ต้องไปจดทะเบียน SME เพิ่มเติมที่ไหน เพราะสรรพากรจะยึดตัวเลขจากงบการเงินเป็นหลัก และหากปีใดที่รายได้และทุนชำระแล้วของบริษัทเกินฐานของ SME ไปแล้ว จะต้องถือว่าบริษัทนั้นเป็น Non SME ตลอดไป ถึงแม้ว่าในปีถัดๆมาบริษัทนั้นจะมีรายได้และทุนชำระแล้วไม่ถึงเกณฑ์แล้วก็ตาม
สรุปเปรียบเทียบอัตราภาษีของ SME และ Non SME ได้ดังนี้
การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเบื้องต้น
ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องยึดตามกำไรสุทธิทางภาษี ซึ่งหลายๆท่านอาจสงสัยว่าตัวเลขตรงนี้นั้นจะหามาได้อย่างไร เนื่องจากเวลาที่เราบันทึกบัญชีของบริษัทนั้นเราบันทึกตามหลักเกณฑ์ในทางบัญชี แล้วเราจะเอาตัวเลขกำไรสุทธิทางภาษีมาจากไหนกัน
ตัวเลขกำไรสุทธิทางภาษีนั้น เริ่มแรกเราจะนำมาตั้งต้นด้วย กำไรสุทธิทางบัญชีก่อน และกระทบยอดด้วยผลแตกต่างระหว่างเกณฑ์ทางบัญชี และเกณฑ์ทางภาษีทั้งหมด ผลลัพธ์ก็จะได้ตัวเลขการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี เพื่อนำมาคำนวณหาภาษีเงินได้นิติบุคคล แสดงรายละเอียดได้ดังนี้
ตัวอย่างการคำนวณเพื่อประกอบความเข้าใจ
บริษัท BMU เป็นบริษัท SME มีกำไรทางบัญชีที่ 1,000,000 บาท และมีรายจ่ายต้องห้ามอยู่ที่ 10,000 บาท จะสามารถคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ดังนี้
กล่าวคือ บริษัท BMU มีกำไรทางบัญชีที่ 1,000,000 บาท มีกำไรทางภาษีที่ 1,010,000 บาท ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 106,500 บาท
แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องยื่น 2 ครั้งต่อปี ดังนี้
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี – ยื่นภาษีกลางปีด้วยแบบ ภงด.51 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยกตัวอย่างเช่น หากงบการเงินของบริษัทปิดรอบปกติคือ 31 ธันวาคม วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี คือวันที่ 30 มิถุนายน ดังนั้นวันสุดท้ายในการยื่น ภงด.51 คือวันที่ 31 สิงหาคม นั้นเอง (ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี)
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคลปลายปี – ยื่นภาษีปลายปีด้วยแบบ ภงด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคล ยกตัวอย่างเช่น หากงบการเงินของบริษัทปิดรอบปกติคือ 31 ธันวาคม วันสุดท้ายในการยื่น ภงด.50 คือวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไปนั่นเอง (ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าเดือนกุมภาพันธ์ในปีนั้นมีกี่วัน)
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ที่นี่
1.ภงด 51 คืออะไร และผู้ประกอบการควรระวังจุดไหนบ้าง
2.ภงด 50 คืออะไร ฉบับเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่
สรุป
ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นภาษีที่นิติบุคคลโดยส่วนใหญ่จะต้องเจอ ดังนั้นการทำความเข้าใจภาษีดังกล่าว การวางแผนทางภาษีเอาไว้แต่เนิ่นๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการบริหารธุรกิจ หวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ และทำให้คุณสามารถดำเนินธุรกิจได้ราบรื่นมากขึ้นนะครับ