ภงด 91 คืออะไร แบบภาษีที่พนักงานเงินเดือนควรต้องทราบ

ปกบทความภงด 91 คืออะไร แบบภาษีที่พนักงานเงินเดือนควรต้องทราบ

สารบัญ

บทนำ

  1. ภงด 91 คืออะไร?
  2. ความสำคัญของการยื่นและชำระภาษีตามแบบ ภงด 91
  3. ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด 91

เนื้อหาหลัก

  1. เอกสารที่ใช้ในการยื่นแบบ ภงด 91
  2. วิธีการคำนวณภาษีและกรอกแบบ ภงด 91
  3. กำหนดเวลาการนำส่งแบบ และช่องทางในการยื่นแบบ ภงด 91
  4. ความแตกต่างระหว่าง ภงด 90 และ ภงด 91
  5. สรุป

ภงด 91 คืออะไร?

ภงด 91 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียว ดังนั้นพนักงานกินเงินเดือนที่มีเงินเดือน และผลตอบแทนจากการจ้างงานอย่างเดียว จะต้องยื่นแบบ ภงด 91

ดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่าง ภงด 91 จากสรรพากร :

ภงด 91

วิธีการกรอกแบบ ภงด 91

ความสำคัญของการยื่นและชำระภาษีตามแบบ ภงด 91

ผู้ที่มีเงินได้เงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40(1) ย่อมมีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ และรัฐบาลมีหน้าที่นำเงินภาษีที่ได้รับมาบริหารประเทศ เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้

ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด 91

ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด 91 คือผู้ที่มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียว ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ที่เป็นโสดและมีเงินได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท
  2. ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 220,000 บาท

เงินได้ตามมาตรา 40(1) คือเงินได้เนื่องจากการจ้าง แรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนค่าจ้างเบี้ยเลี้ยงโบนัสเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้าง มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงาน เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานรวมทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่มีระยะเวลาการทำงาน น้อยกว่า 5 ปี เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานรวม ทั้งเงินชดเชย ตามกฎหมายแรงงานที่มีระยะเวลาการทำงาน 5 ปีขึ้นไป ที่เลือกนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น

เอกสารที่ใช้ในการยื่นแบบ ภงด 91

หากผู้มีเงินได้ยื่นแบบ ภงด 91 ด้วยแบบกระดาษก็จะต้องกรอกแบบภาษีไปให้เรียบร้อย นอกจากนี้หลังจากได้ยื่นแบบภาษีไปแล้ว ผู้มีเงินได้ก็จะต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวกับรายได้และค่าลดหย่อนเก็บเอาไว้เผื่อถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเรียกตรวจ

  1. เอกสารแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ ที่นายจ้างส่งให้
  2. เอกในการลดหย่อนภาษี ยกตัวอย่างเช่น
  • ใบเสร็จค่าเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ
  • ทะเบียนสมรส ใบสูติบัตรของบุตร
  • ใบเสร็จรับเงินซื้อกองทุนต่างๆที่นำมาลดหย่อนภาษี
  • หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมธนาคาร
  • หลักฐานในการบริจาค

วิธีการคำนวณภาษีและกรอกแบบ ภงด 91

ภงด 91 หน้าที่ 1

ภงด 91_Page1
  1. ให้กรอก ชื่อ-นามสกุลของผู้มีเงินได้ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ระบุปีภาษี และระบุว่าเป็นการยื่นปกติหรือการยื่นเพิ่มเติม
  2. ให้กรอก ชื่อ-นามสกุลของคู่สมรส เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ระบุสถานะภาพของการสมรส และสถานะในการยื่นแบบ
  3. เซ็นรับรองในแบบ ภงด 91
  4. เมื่อกรอกข้อมูลและคำนวณภาษีในหน้าอื่นๆเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมากรอกยอด ภาษีที่ชำระเพิ่มเติม หรือ ภาษีที่ชำระไว้เกิน และหากต้องการขอคืนเงินต้องมากรอกและเซ็นในช่องคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วย

ภงด 91 หน้าที่ 2

ภงด 91_Page2

การคำนวณภาษี

  1. กรอกเงินเดือน ค่าจ้างตามมาตรา 40(1) เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง
  2. หัก เงินได้ที่ได้รับการยกเว้น เช่น เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสม กบข. เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
  3. กรอกยอดคงเหลือ (1) – (2)
  4. หักค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
  5. กรอกยอดคงเหลือ (3) – (4)
  6. กรอกค่าลดหย่อน (นำตัวเลขมาจาก ใบแนบแสดงรายละเอียดค่าลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเอกสารหน้าที่ 3 ในแบบ ภงด 91)
  7. กรอกยอดคงเหลือ (5) – (6)
  8. กรอกยอด เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/อื่นๆ ที่สามารถหักได้เพิ่มเติม (2 เท่าของจำนวนที่จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของข้อ 7
  9. กรอกยอดคงเหลือ (7) – (8)
  10. หัก เงินบริจาคที่สามารถหักได้เพิ่มเติม (ไม่เกินร้อยละ 10 ของข้อ 9)
  11. กรอกยอดเงินได้สุทธิ (9) – (10)
  12. คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิด้วยอัตราก้าวหน้า
  13. กรอกยอดที่สามารถนำมาหักภาษีได้ เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีที่ชำระไว้แล้วตามแบบ ภงด.93 เป็นต้น
  14. ข้อ 14-20 ให้กรอกยอดภาษีที่ชำระเพิ่มเติม หรือชำระไว้เกิน และให้กรอกตัวเลขภาษีที่ชำระเพิ่มเติม หรือชำระไว้เกิน ดังกล่าวเอาไว้หน้าที่ 1

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณภาษี : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร

ภงด 91 หน้าที่ 3

ภงด 91_Page3

ในส่วนนี้ให้กรอกรายละเอียดค่าลดหย่อนทั้งหมดที่ผู้เสียภาษีมี

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าลดหย่อน : อัพเดทการหักค่าลดหย่อนบุคคลธรรมดาปี 2567

กำหนดเวลาการนำส่งแบบ และช่องทางในการยื่นแบบ ภงด 91

ผู้มีเงินได้ต้องนำส่งแบบ ภงด 91 และจ่ายภาษี (ถ้ามี) ของรอบปีบัญชี ภายในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป สำหรับช่องทางในการยื่นแบบมี 2 ทางหลักๆ ดังนี้

  1. ยื่นแบบ ภงด 91 เป็นกระดาษที่กรมสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาของผู้มีเงินได้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ได้อธิบายไปในบทความนี้ หรือส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียน
  2. ยื่นแบบ ภงด 91 ผ่านระบบออนไลน์ของสรรพากร

ความแตกต่างระหว่าง ภงด 90 และ ภงด 91

แบบ ภงด 90 และ ภงด 91 เป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่ ภงด 90 จะเป็นแบบภาษีสำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) – 40(8) หลายประเภท หรือประเภทเดียว (ที่ไม่ใช่ 40(1)) แต่หากเป็น ภงด 91 จะเป็นแบบภาษีสำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียว

สรุป

ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ประเภทเดียวจะต้องยื่นแบบ ภงด 91 ซึ่งแบบภาษีดังกล่าวมีขั้นตอนและวิธีการในการกรอกแบบตามหลักการในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เราควรศึกษาทั้งวิธีในการคำนวณภาษีและวิธีในการกรอกแบบ ภงด 91 ให้ถูกต้อง เพื่อการเสียภาษีที่ถูกต้อง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะครับ

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.