สารบัญ
- ภาษีธุรกิจเฉพาะคืออะไร?
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
- กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
- ฐานภาษี อัตราภาษี และวิธีการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
- ตัวอย่างการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
- การยื่นแบบแสดงรายการและกำหนดเวลายื่นแบบ
- สรุป
ภาษีธุรกิจเฉพาะคืออะไร?
ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีอากรประเภทหนึ่ง ซึ่งจะจัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างซึ่งมาแทนภาษีการค้าเดิมที่ถูกยกเลิกไป และเริ่มบังคับใช้ในปี 2535
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้ ที่ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
- บุคคลธรรมดา
- คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- กองมรดก
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ
- กองทุน
- หน่วยงานหรือกิจการของเอกชน (บุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไป) ที่ไม่ใช่นิติบุคคล
- องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล
ผู้ประกอบการใดๆที่มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าวจะต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการจดทะเบียน : คู่มือการจดทะเบียน
อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการบางประเภทที่ต้องนำส่งภาษีแต่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะดังนี้
- ผู้ประกอบกิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาด หลักทรัพย์
- ผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการที่มิใช่ การจัดสรรที่ดิน ห้องชุด อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ไม่เข้าลักษณะตามข้อ 1 ที่ได้ทำภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น
- การให้กู้ยืมเงินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราวไม่ใช่การประกอบกิจการเป็นปกติธุระ
กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะมีดังต่อไปนี้
- การธนาคาร
- การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- การรับประกันชีวิต
- การรับจำนำ
- การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นกิจการบางประเภทที่ถึงแม้ว่าจะประกอบธุรกิจดังกล่าว แต่ก็ไม่ต้องเสียภาษี ดูรายละเอียดตามลิงก์นี้ : กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ฐานภาษี อัตราภาษีและวิธีการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
ฐานภาษีธุรกิจเฉพาะที่ใช้ในการคำนวณภาษีคือ รายรับก่อนหักรายจ่าย ที่ผู้ประกอบการได้รับเนื่องมาจากการประกอบกิจการ
คำนิยามของ “รายรับ” หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆ ที่มีมูลค่าซึ่งผู้ประกอบกิจการ ได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรเนื่องมาจากการประกอบกิจการ
วิธีการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ = (รายรับตามฐานภาษี x อัตราภาษีที่กำหนด) x 1.1
หมายเหตุ : ที่ต้องมีการ x 1.1 เนื่องจากว่าจะต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก ร้อยละ 10 ของจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว
ตัวอย่างการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
บริษัท BMU จำกัด ได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้บริษัทในเครือจำนวน 1,000,000 บาท (การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ทางบริษัทได้รับดอกเบี้ยในปีปัจจุบันมาทั้งสิ้น 50,000 บาท
เนื่องจากิจกรรมดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนดคือ 3% ดังนั้นบริษัทจะต้องนำส่งภาษีดังนี้
ภาษีธุรกิจเฉพาะ = (รายรับตามฐานภาษี x อัตราภาษีที่กำหนด) x 1.1
ภาษีธุรกิจเฉพาะ = (50,000 x 3%) x 1.1 = 1,650 บาท
การยื่นแบบแสดงรายการและกำหนดเวลายื่นแบบ
ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีและผู้ประกอบการที่เข้าข่ายตามบทความนี้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภธ 40 และนำส่งภาษีภายใน 15 วันของเดือนถัดไป
หากเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนจะต้องยื่นแบบทุกเดือนไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่ก็ตามในเดือนนั้นๆ แต่หากเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่ต้องนำส่งแบบทุกเดือน แต่ให้นำส่งแบบภาษีเป็นเดือนๆไปเมื่อมีภาระภาษีเกิดขึ้น
สามารถศึกรายละเอียดวิธีการกรอกแบบได้ที่ : ภธ 40 คืออะไร?
สรุป
ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีอีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญ หากเราเป็นบุคคลธรรมดารายการที่มักเจอกันบ่อยๆคือตอนที่มีการซื้อขายที่ดินและไปโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน เราก็อาจจะเสียภาษีดังกล่าวหากเข้าเงื่อนไข หรือกรณีที่เราเปิดบริษัท/ห้างหุ้นส่วน และมีการให้เงินกู้ยืมแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ก็จะถือว่าเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จะต้องเสียภาษีดังกล่าว เช่นเดียวกัน หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์นะครับ