สารบัญ
บทนำเกี่ยวกับ ภพ 30
ตัวอย่างการคำนวณเพื่อยื่นแบบ ภพ 30
ขั้นตอนการยื่นแบบ ภพ 30 อย่างละเอียด
ภพ 30 คืออะไร?
ภพ 30 คือแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการที่จด Vat ทุกรายจะต้องยื่นแบบ ภพ 30 เป็นประจำทุกเดือน เพื่อสรุปยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อ เครดิตภาษียกมา และยอดภาษีที่ต้องชำระให้แก่กรมสรรพากร
ตัวอย่างแบบ ภพ 30
หากต้องการศึกษาความรู้พื้นฐานเพิ่มเติม ไปอ่านบทความนี้กันก่อนนะ : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร? มาหาคำตอบกันได้จากบทความนี้
ใครบ้างที่ต้องยื่นแบบ ภพ 30?
ผู้ประกอบการที่จด Vat ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภพ 30 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ประกอบการท่านใดที่ยังไม่ได้จด Vat จะไม่สามารถยื่นแบบ ภพ 30 ได้
ภาษีซื้อ ภาษีขาย คืออะไร?
ก่อนที่เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการคำนวณภาษี เราควรที่จะเข้าใจเรื่องภาษีซื้อ กับ ภาษีขายกันเสียก่อน
ภาษีซื้อ หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการที่จด Vat เรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ โดยที่ภาษีซื้อสามารถนำมาเคลมหักออกจากภาษีขายได้ ก่อนนำส่งภาษีแก่สรรพากรในแต่ละเดือน
ภาษีขาย หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการที่จด Vat เรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ แทนสรรพากร โดยที่ภาษีขายจะต้องนำไปรวมคำนวณ เพื่อยื่นแบบภาษีในแต่ละเดือน
หาก ภาษีขาย > ภาษีซื้อ แสดงว่าผู้ประกอบการจะต้องชำระภาษีให้แก่สรรพากรในเดือนนั้น
หาก ภาษีซื้อ > ภาษีขาย แสดงว่าผู้ประกอบการสามารถขอคืนภาษีจากสรรพากร หรือ สามารถนำไปเป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไปได้
ในบางกรณีเราจะไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักออกได้ ศึกษาเพิ่มเติมที่ : ภาษีซื้อต้องห้ามมีอะไรบ้าง
กรณีศึกษาการคำนวณเพื่อยื่นแบบ ภพ 30
- ในเดือน มกราคม 2568 บริษัท BMU จำกัด มียอดขาย 100,000 บาท ภาษีขาย 7,000 บาท ยอดซื้อ 150,000 บาท ภาษีซื้อ 10,500 บาท
- ในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 บริษัท BMU จำกัด มียอดขาย 90,000 บาท ภาษีขาย 6,300 บาท ยอดซื้อ 60,000 บาท ภาษีซื้อ 4,200 บาท
- ในเดือน มีนาคม 2568 บริษัท BMU จำกัด มียอดขาย 150,000 บาท ภาษีขาย 10,500 บาท ยอดซื้อ 70,000 บาท ภาษีซื้อ 4,900 บาท
สามารถสรุปยอดชำระภาษีในแต่ละเดือนได้ดังนี้
- เดือน มกราคม 2568 ภาษีขาย 7,000 บาท – ภาษีซื้อ 10,500 บาท = เครดิตภาษียกไป 3,500 บาท (ไม่ต้องชำระภาษี)
- เดือน กุมภาพันธ์ 2568 ภาษีขาย 6,300 บาท – ภาษีซื้อ 4,200 บาท – เครดิตภาษียกไป 3,500 บาท = เครดิตภาษียกไป 1,400 บาท (ไม่ต้องชำระภาษี)
- เดือน มีนาคม 2568 ภาษีขาย 10,500 บาท – ภาษีซื้อ 4,900 บาท – เครดิตภาษียกไป 1,400 บาท = ต้องชำระภาษี 4,200 บาท
จากตัวอย่างข้างต้น สามารถนำมาสรุปเป็นตารางได้ดังนี้
การยื่นแบบ ภพ 30 ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
หากเป็นการยื่นแบบ ภพ 30 ด้วยกระดาษที่สรรพากรพื้นที่ สิ่งที่ต้องเตรียมไปยื่นนั่นก็คือแบบ ภพ 30 ที่กรอกข้อมูลเรียบร้อย และลายเซ็นของผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ
หากเป็นการยื่นแบบ ภพ 30 ด้วยระบบออนไลน์ก็เข้าไปทำการกรอกข้อมูลในการยื่นแบบด้วยระบบออนไลน์ได้เลย
นอกจากนี้ไม่ว่าเราจะยื่นแบบด้วยวิธีการใด เราจะต้องมีการจัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานภาษีขาย เก็บเอาไว้ที่บริษัทเผื่อสรรพากรเรียกตรวจ
นอกจากนี้ใบกำกับภาษีขาย และ ใบกำกับภาษีซื้อ ทุกๆใบก็จะต้องจัดเก็บให้เรียบร้อยที่บริษัทเช่นเดียวกัน
วิธีการกรอกแบบ ภพ 30
การกรอกแบบ ภพ 30 นั้นมีหลายส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1
ในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการยื่นแบบ
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ชื่อที่อยู่ของผู้ประกอบการ และเบอร์ติดต่อ
- กรอกรายละเอียดว่าเป็นการแยกยื่นแบบ หรือ รวมยื่นแบบ
- กรอกรายละเอียดยื่นปกติ หรือ ยื่นเพิ่มเติม และ เดือนปี ที่นำส่งภาษี
ส่วนที่ 2
ในส่วนนี้จะเป็นการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแบบ ภพ 30 จากข้อมูลตัวอย่างที่เคยให้ไป ลองมาดูวิธีการกรอกแบบของเดือน มีนาคม 2568 กันดังนี้
ส่วนที่ 3
ส่วนสุดท้ายจะเป็นการให้คำรับรองและเซ็นแบบ ภพ 30 ก่อนยื่น ซึ่งอาจเป็นกรรมการเซ็น หรือพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบเซ็นก็ได้
หากผู้ประกอบการมีความประสงค์ที่จะไม่พันยอดเครดิตภาษี และต้องการขอคืนเงินภาษีก็ต้อง เซ็นชื่อรับรองว่าจะขอคืนภาษี เป็นเงินสด หรือ โอนเข้าธนาคาร
ช่องทางการยื่นแบบ ภพ 30
ช่องทางในการยื่นแบบมี 2 ช่องทางหลักๆคือ
- ยื่นแบบ ภพ 30 เป็นกระดาษที่สรรพากรพื้นที่ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ได้อธิบายไปในบทความนี้
- ยื่นแบบ ภพ 30 ผ่านระบบออนไลน์
สรุป
ภพ 30 เป็นแบบภาษีตัวหนึ่งที่เอาไว้ใช้ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการกรอกแบบจะต้องกรอกให้ครบทั้ง 3 ส่วน ส่วนที่ 1 จะเป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการยื่นแบบ ส่วนที่ 2 จะเป็นการคำนวณภาษี ส่วนที่ 3 จะเป็นการให้คำรับรอง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะครับ