สารบัญ
- หมายเหตุประกอบงบการเงินคืออะไร
- การอ่านข้อมูลทั่วไปและนโยบายการบัญชีในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- วิธีดูเลขอ้างอิงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- การอ่านข้อมูลสำคัญที่ซ่อนอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- บทสรุป
หมายเหตุประกอบงบการเงินคืออะไร ?
หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statement) เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงิน ที่แสดงรายละเอียดสำคัญเพิ่มเติมให้ผู้อ่านงบได้ทราบ ได้แก่
- รายละเอียดเพิ่มเติมจากตัวเลขในหน้างบการเงินแต่ละงบ เช่น งบฐานะการเงินให้ข้อมูลว่าบริษัทมีสินค้าคงเหลือเท่าใด หมายเหตุประกอบงบการเงินจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสินค้าคงเหลือของบริษัทแบ่งเป็นวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูปเท่าใด มีการตั้งสำรองค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าสินค้าหรือไม่
- แสดงข้อมูลสำคัญที่ไม่ปรากฏอยู่ในงบการเงิน เช่น ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คดีความของบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง
- แสดงข้อมูลทั่วไปของบริษัท และนโยบายการบัญชีที่สำคัญของบริษัท
หมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นรายงานที่ถูกแนบท้ายไว้ที่ด้านหลังสุดของงบการเงิน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เมื่อได้รับงบการเงินมักมองข้ามส่วนนี้ไป โดยให้ความสนใจเฉพาะตัวเลขในงบฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสด แต่แท้จริงแล้วหมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ข้อมูลในงบการเงินสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นหากต้องการอ่านงบการเงินอย่างเข้าใจและได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เราต้องสังเกตและอ่านหมายเหตุประกอบงบร่วมด้วย จากนี้เรามาเริ่มทำความเข้าใจวิธีการอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินกันค่ะ
การอ่านข้อมูลทั่วไปและนโยบายการบัญชีในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
ส่วนแรกที่ปรากฏอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินคือ ข้อมูลทั่วไป และนโยบายการบัญชีที่สำคัญ
“ตัวอย่าง หมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อมูลทั่วไปและนโยบายการบัญชี”
ข้อมูลทั่วไปเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านงบทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นของบริษัท ได้แก่ บริษัทจัดตั้งขึ้นเมื่อใด ที่ตั้งของบริษัท และที่สำคัญคือบริษัทดำเนินธุรกิจหลักด้านอะไร จากตัวอย่างทำให้ทราบว่าบริษัทดำเนินธุรกิจหลักในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ข้อมูลส่วนนี้ผู้ประกอบการอาจข้ามไปได้เพราะย่อมเข้าใจความเป็นมาและการดำเนินธุรกิจของตนเองอยู่แล้ว แต่หากเป็นการศึกษางบการเงินของบริษัทอื่น ข้อมูลส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบ
ในส่วนของนโยบายการบัญชีที่สำคัญ จะทำให้ผู้อ่านงบทราบเกณฑ์ในการจัดทำงบการเงินและนโยบายการบัญชีที่สำคัญ ซึ่งนโยบายการบัญชีที่แตกต่างกันย่อมมีผลต่อตัวเลขที่แสดงในหน้างบการเงินที่ต่างกันไป ดังนั้นหากผู้ใช้งบทราบนโยบายการบัญชีจะช่วยให้อ่านงบอย่างเข้าใจมากขึ้น และเป็นประโยชน์หากเราต้องการเปรียบเทียบงบการเงินระหว่างบริษัทของตน และบริษัทคู่แข่ง จากตัวอย่างนโยบายการรับรู้รายได้ของบริษัทคือ บริษัทรับรู้รายได้เมื่อโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นนัยสำคัญของความเป็นเจ้าของให้กับผู้ซื้อ ซึ่งอาจหมายถึงการรับรู้รายได้เมื่อบริษัทได้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้านั้นเอง ทั้งนี้ นโยบายการบัญชีจะแตกต่างกันไปตามลักษณะการประกอบธุรกิจ โดยจะต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์ในการจัดทำงบการเงินที่หน่วยงานทางการกำหนด
วิธีดูเลขอ้างอิงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
ในงบการเงินแต่ละงบ จะมีช่องหมายเหตุที่ระบุเป็นตัวเลขไว้ในแต่ละบรรทัด เลขดังกล่าวคือเลขอ้างอิงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อให้ผู้อ่านงบสามารถค้นหาข้อมูลรายละเอียดในหมายเหตุได้ง่ายขึ้น เช่น การอ่านงบฐานะการเงิน เริ่มจากการดูและวิเคราะห์ตัวเลขที่หน้างบฐานะการเงิน จากนั้นให้สังเกตหมายเลขอ้างอิงของแต่ละรายการ และให้เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบตามเลขอ้างอิงที่ระบุไว้
“ตัวอย่าง การดูเลขอ้างอิงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน”
จากตัวอย่าง สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ดังนี้
- งบฐานะการเงินในบรรทัด “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด” แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X2 จำนวน 1,294,000 บาท โดยหน้างบระบุเลขอ้างอิงเป็นหมายเลข 4 ผู้อ่านงบสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 4 โดยเมื่อเราเปิดหมายเหตุข้อ 4 จะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1,294,000 บาทนั้น แบ่งเป็น บริษัทถือเงินสด 35,000 บาท และมีเงินฝากบัญชีธนาคาร 1,259,000 บาท ซึ่งเงินฝากบัญชีธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X2 มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 – 0.25 ต่อปี
- ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X2 บริษัทมียอดลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นที่แสดงอยู่ในงบฐานะการเงินจำนวน 580,000 บาท โดยในหมายเหตุประกอบงบข้อ 5 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทมีลูกหนี้การค้า 530,000 บาท แต่ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้การค้าที่คาดว่าจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ -12,000 บาท เหลือเป็นลูกหนี้การค้าสุทธิจำนวน 518,000 บาท และมีลูกหนี้อื่นเป็นรายได้ค้างรับจำนวน 62,000 บาท รวมแล้วบริษัทจึงมีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวน 580,000 บาท
- รายการสุดท้ายทำให้เห็นว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X2 บริษัทมีสินค้าคงเหลือที่แสดงอยู่ในงบฐานะการเงินจำนวน 870,000 บาท ซึ่งอ้างอิงถึงหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 6 โดยหมายเหตุข้อ 6 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอดสุทธิในจำนวนนี้ประกอบด้วย วัตถุดิบ 32,000 บาท และสินค้าสำเร็จรูปจำนวน 850,000 บาท รวมเป็น 882,000 บาท แต่มีการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้า -12,000 บาท จึงเหลือเป็นสินค้าคงเหลือสุทธิจำนวน 870,000 บาท
จะเห็นว่า หากผู้ประกอบการอ่านงบแค่เพียงหน้างบฐานะการเงิน ก็จะทราบข้อมูลแค่ก้อนรวมว่าบริษัทมี เงินสด ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ เท่าไหร่ แต่ไม่ได้ทราบในรายละเอียดเลยว่าจริงๆ แล้ว เงินสดส่วนใหญ่ของบริษัทคือเงินฝากบัญชีธนาคาร ลูกหนี้ประกอบด้วยลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นเท่าไหร่ มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญหรือไม่ รวมถึงไม่ได้ทราบว่าบริษัทมีสินค้าคงเหลือกี่ประเภท แต่ละประเภทมีจำนวนเท่าไหร่ มีสินค้าล้าสมัยหรือไม่
การอ่านข้อมูลสำคัญที่ซ่อนอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
หมายเหตุประกอบงบการเงิน นอกจากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากหน้างบตามที่อธิบายไปแล้ว ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้ข้อมูลส่วนที่ไม่ได้เปิดเผยที่หน้างบการเงินแต่อาจมีผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในอนาคต หรือเราเรียกกันว่า รายการ off-balance ตัวอย่างรายการ off-balance มีดังนี้
1.เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังรอบระยะเวลารายงานแต่ก่อนวันที่อนุมัติให้เผยแพร่ในงบการเงิน โดยหากเป็นเหตุการณ์ที่มีสาระสำคัญ บริษัทต้องพิจารณาเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เช่น ไฟไหม้โรงงาน การออกหุ้นเพิ่มทุน การออกหุ้นกู้ และการจ่ายปันผลภายหลังวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
“ตัวอย่าง หมายเหตุประกอบงบการเงิน หัวข้อเหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน”
จากตัวอย่าง หมายเหตุข้อ 15 ทำให้ทราบว่าบริษัทมีความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 25X3 จึงยังไม่แสดงผลกระทบกับบัญชี ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ที่หน้างบฐานะการเงินในปี 25X2 และไม่แสดงค่าความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ที่หน้างบกำไรขาดทุนในปี 25X2 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรอบระยะเวลารายงาน แต่ก่อนวันที่ออกงบการเงิน ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องถูกเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินปี 25X2 ซึ่งหากผู้อ่านงบมองข้ามหมายเหตุประกอบงบไป จะทำให้พลาดข้อมูลสำคัญในส่วนนี้ได้
คู่มืออธิบายมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 10 เรื่อง เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
2.ภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น เป็นภาระที่โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระยะยาวระหว่างบริษัทและคู่ค้า เช่น ภาระผูกพันจากการเช่าพื้นที่ระยะยาว ภาระผูกพันจากการทำสัญญาบริการระยะยาว
“ตัวอย่าง หมายเหตุประกอบงบการเงิน หัวข้อภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น”
จากตัวอย่าง หมายเหตุข้อ 12 ให้ข้อมูลว่าบริษัทได้ทำสัญญาจ้างบริการระยะยาว ซึ่งบริษัทมีภาระที่ต้องจ่ายในอีก 1 ปีข้างหน้าจำนวน 1,260,000 บาท รายการนี้แม้จะยังไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้สินในงบฐานะการเงิน ณ สิ้นงวด แต่การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุจะทำให้ผู้อ่านงบทราบภาระผูกพันที่จะมีผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในอนาคต
3.คดีความฟ้องร้อง ในกรณีที่บริษัทมีคดีความฟ้องร้องซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยยังไม่มีความแน่นอนของคำพิพากษา บริษัทจะต้องเปิดเผยคดีความฟ้องร้องในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อให้ผู้อ่านงบได้ทราบสถานการณ์ของบริษัท และคาดการณ์ถึงภาระผูกพันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
จากตัวอย่างรายการ off-balance ที่ได้ยกมาข้างต้น ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากผู้ใช้งบไม่ให้ความสนใจในหมายเหตุประกอบงบการเงิน จะทำให้ผู้ใช้งบพลาดข้อมูลสำคัญของบริษัทได้
บทสรุป
หมายเหตุประกอบงบการเงิน คือ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของงบการเงิน ที่เปรียบเสมือนการ zoom ข้อมูลให้ผู้ใช้งบได้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมจากตัวเลขในหน้างบ อีกทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับเกณฑ์ในการจัดทำงบการเงิน นโยบายการบัญชี รวมถึงเป็นส่วนที่แสดงข้อมูลสำคัญที่ไม่ได้เปิดเผยไว้ที่หน้างบการเงิน (off-balance) ดังนั้นผู้ประกอบการและผู้ใช้งบทุกท่าน ไม่ควรมองข้ามหมายเหตุ โดยการอ่านหมายเหตุนั้นสามารถเริ่มจากการอ่านข้อมูลที่หน้างบการเงินแต่ละงบ และมองหาเลขอ้างอิงของแต่ละรายการ เพื่อตามไปดูข้อมูลที่ละเอียดตามหมายเลขอ้างอิงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน จากนั้นควรไล่อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ได้ปรากฎอยู่ที่หน้างบการเงิน เช่น นโยบายการบัญชี ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน คดีความฟ้องร้อง เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้งบสามารถอ่านและทำความเข้าใจงบการเงินอย่างทะลุปรุโปร่งได้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจหลักการในการอ่านและเห็นถึงความสำคัญของหมายเหตุประกอบงบการเงิน