สารบัญ
- งบกำไรขาดทุนคืออะไร ?
- องค์ประกอบของงบกำไรขาดทุน
- วิธีการอ่านงบกำไรขาดทุน
- ประโยชน์ของงบกำไรขาดทุน
- ประเภทของงบกำไรขาดทุน
- ความสัมพันธ์ของงบกำไรขาดทุนและงบฐานะการเงิน
- บทสรุป
งบกำไรขาดทุนคืออะไร
งบกำไรขาดทุน (Income Statement) คือ งบที่แสดงผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบระยะเวลาหนึ่ง เช่น รอบไตรมาส หรือรอบปี ทำให้ทราบว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่าไหร่ และโดยสรุปแล้วบริษัทมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่
[รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร (ขาดทุน)]
“ตัวอย่างงบกำไรขาดทุน”
องค์ประกอบของงบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุน จะจัดประเภทและแสดงรายการรายได้ ค่าใช้จ่ายโดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีองค์ประกอบ ดังนี้
1.รายได้ แบ่งเป็น
-
- รายได้จากการขาย หมายถึง รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าหลักของกิจการ เช่น บริษัทประกอบกิจการขายอาหารเสริม จะมีรายได้จากการขายตามจำนวนที่ขายอาหารเสริม วิตามิน โดยรวมทั้งยอดขายเงินสดและยอดขายเงินเชื่อ สำหรับกรณีธุรกิจหลักของบริษัทเป็นธุรกิจบริการ เราจะเรียกกันว่ารายได้จากการให้บริการ
- รายได้อื่น หมายถึง รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าหลักของกิจการ เช่น กิจการขายอาหารเสริม ระหว่างปีบริษัทขายเศษซากกระดาษลังให้ร้านขายของเก่า รายได้ส่วนนี้จะแสดงเป็นรายได้อื่นในงบการเงิน
2.ค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น
-
- ต้นทุนขาย หมายถึง ต้นทุนของสินค้าในส่วนที่บริษัทขายไประหว่างงวด ต้นทุนขายโดยมากจะผันแปรตามรายได้จากการขาย กล่าวคือ รายได้จากการขายสูงขึ้น ต้นทุนขายก็จะสูงขึ้น
- ค่าใช้จ่ายในการขาย หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากงานด้านการขาย หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายขาย เช่น ค่าโฆษณา เงินเดือนพนักงานฝ่ายขาย ค่าคอมมิชชั่นจากการขาย
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร หมายถึง ค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นจากการบริหารกิจการ เช่น เงินเดือนผู้บริหาร ค่าเช่าอาคารสำนักงาน ค่าน้ำค่าไฟสำนักงาน ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์สำนักงาน ค่าแม่บ้าน เป็นต้น รายจ่ายส่วนนี้มักเป็นรายจากที่ไม่ผันแปรตามรายได้
3.ต้นทุนทางการเงิน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการก่อหนี้ของบริษัท เช่น บริษัทที่กู้ยืมเงินธนาคารมาดำเนินกิจการ จะมีดอกเบี้ยเป็นต้นทุนทางการเงิน
4.ภาษีเงินได้ หมายถึง ภาษีที่จะจ่ายให้กับกรมสรรพากร เมื่อบริษัทมีกำไรจากการประกอบกิจการ
วิธีการอ่านงบกำไรขาดทุน
ก่อนจะเริ่มอ่านงบ ผู้อ่านต้องเข้าใจว่างบนั้นเป็นการรายงานกำไรขาดทุน สำหรับช่วงระยะเวลาใด โดยช่วงระยะเวลาจะถูกระบุไว้ที่ด้านบนสุดของงบ รองจากชื่อบริษัท ตัวอย่างเช่น
-
- สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 25X1 หมายถึง งบที่รายงานผลการดำเนินงานของปี 25X1 ทั้งปี
- สำหรับงวดไตรมาส สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 25X1 หมายถึง การรายงานผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปี 25X1
- สำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 25X1 หมายถึง การรายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 25X1
จากนั้นให้อ่านรายละเอียดงบในแต่ละบรรทัด และพิจารณาความสัมพันธ์ของแต่ละรายการ เช่น หากรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน บริษัทมีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เพิ่มขึ้น หรือมีค่าใช้จ่ายกลุ่มใดที่เป็นค่าใช้จ่ายหลัก ค่าใช้จ่ายใดที่สูงเกินควรและควรพิจารณาปรับลด เป็นต้น โดยจากตัวอย่างงบข้างต้น สามารถอ่านใจความหลักได้ ดังนี้
ในปี 25X1 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 8,402,500 บาท โดยเป็นรายได้จากธุรกิจหลักของกิจการจำนวน 8,400,000 บาท รายได้หลักดังกล่าวมีต้นทุนขายจำนวน 4,620,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นกำไรขั้นต้นโดยการนำยอดรายได้หักต้นทุนขายได้เป็นจำนวน 3,780,000 บาท คิดเป็น 45% ของรายได้หลัก (คำนวณมาจากกำไรขั้นต้นหารด้วยรายได้จากการขาย 3,780,000/8,400,000)
เมื่อเปรียบเทียบรายได้และต้นทุนกับปีก่อนหน้า จะเห็นว่าบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 25X0 โดยปี 25X0 บริษัทมีรายได้ 5,400,000 บาท และต้นทุนขาย 2,910,000 บาท มีกำไรขั้นต้นจำนวน 2,490,000 บาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นคิดเป็น 46% จึงสรุปได้ว่าต้นทุนขายของบริษัทเป็นต้นทุนผันแปรโดยตรงกับรายได้ กล่าวคือเมื่อบริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้น และเมื่อบริษัทมีรายได้ลดลง ต้นทุนขายก็จะลดลงตาม โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 45% – 46% กล่าวคือ หากบริษัทขายสินค้าได้ 100 บาท บริษัทจะมีกำไรขั้นต้นที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจำนวนประมาณ 45 – 46 บาท
สำหรับปี 25X1 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขาย 50,000 บาท ซึ่งมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ จึงอาจพิจารณาได้ว่า สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าที่ไม่ต้องพึ่งพาค่าใช้จ่ายในการขายเช่น ไม่ต้องจัดทำโฆษณาเป็นหลัก ไม่มีค่าคอมมิชชั่น หรืออาจเป็นการขายสินค้าลักษณะขายหน้าร้าน เป็นต้น
สำหรับปี 25X1 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 2,500,000 บาท เป็นกลุ่มค่าใช้จ่ายใหญ่รองลงมาจากต้นทุนขาย แต่ต่างกันที่ต้นทุนขายเป็นค่าใช้จ่ายผันแปร กล่าวคือเมื่อรายได้ในปี 25X1 สูงขึ้นจากปี 25X0 ต้นทุนขายของบริษัทก็เพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้จึงถือเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น เงินเดือนผู้บริหาร ค่าเช่าอาคารสำนักงาน ค่าทำบัญชี คือแม้ว่าบริษัทจะขายสินค้าได้มากขึ้นหรือน้อยลง ค่าเช่าสำนักงานในแต่ละปีก็เท่าเดิม หรืออาจปรับสูงขึ้นเล็กน้อยแต่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับยอดขาย
ต่อมาเมื่อนำรายได้รวม หักค่าใช้จ่ายรวม จะได้เป็นกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ จำนวน 1,232,500 บาท กำไรส่วนนี้จะยังไม่ใช่กำไรของบริษัททั้งหมด เพราะบริษัทอาจมีการกู้ยืมเงินธนาคารมาใช้ลงทุน กำไรส่วนนี้จึงต้องถูกแบ่งจ่ายให้กับธนาคารในรูปดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางการเงิน 50,000 บาท โดยลดลงจากปีก่อนหน้า 8,000 บาท
หลังจากเราแบ่งกำไรให้ธนาคารจากต้นทุนทางการเงินแล้ว จะได้เป็นกำไรก่อนภาษี จำนวน 1,182,500 บาท แน่นอนว่าเมื่อบริษัทมีกำไร บริษัทย่อมต้องเสียภาษี เพราะการเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ โดยในปี 25X1 บริษัทมีค่าใช้จ่ายภาษีจำนวน 132,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในปี 25X0 บริษัทมีกำไรก่อนภาษีเพียง 108,800 บาท แม้จะมีกำไรแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ เพราะบริษัทอาจได้รับยกเว้นจากที่กำไรสุทธิไม่ถึง 300,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้รายละเอียดเรื่องภาษีเงินได้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : ภาษีเงินได้นิติบุคคล สรุปความเข้าใจในหน้าเดียว
สุดท้ายในปี 25X1 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,050,500 บาท ในขณะที่ปี 25X0 บริษัทมีกำไรสุทธิเพียง 108,800 บาท สรุปโดยรวมได้ว่าบริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มสูงขึ้น มีต้นทุนขายซึ่งเป็นต้นทุนผันแปรเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการบริหารซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงรองลงมาจากต้นทุนขายนั้นเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เมื่อกิจการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการบริหารคงที่โดยไม่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของรายได้ จึงทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 25X0 จำนวนมาก
ประโยชน์ของงบกำไรขาดทุน
รายงานกำไรขาดทุนเป็นงบที่ช่วยให้ผู้ประกอบการหรือผู้อ่านงบทราบผลการดำเนินงานของบริษัท และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานในอนาคตได้ เช่น เมื่อเจ้าของทราบอัตรากำไร จะสามารถวางแผนได้ว่า หากต้องการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า จะสามารถลดราคาได้เท่าใด บริษัทจึงจะยังไม่ขาดทุน
โดยการใช้งบจะมีประโยชน์มากขึ้นเมื่อเรานำข้อมูลมาเปรียบเทียบ โดยอาจเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในช่วงปีนี้กับปีก่อนหน้า เพื่อประเมินความสามารถในการสร้างรายได้และทำกำไร อีกทั้ง สามารถนำงบของบริษัทเปรียบเทียบกับงบของคู่แข่ง เช่น หากทราบว่าคู่แข่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าบริษัทมาก บริษัทควรต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์ว่าบริษัทขายสินค้าในราคาต่ำกว่าอุตสาหกรรม หรือเกิดจากความบกพร่องของกระบวนการสรรหาผลิตภัณฑ์ทำให้บริษัทมีต้นทุนขายที่สูงกว่าคู่แข่ง
ช่องทางการค้นหาข้อมูลนิติบุคคล และงบการเงินของบริษัทจำกัด
ประเภทของงบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ แบบขั้นเดียว และแบบหลายขั้น
ตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นงบกำไรขาดทุนแบบขั้นเดียว ซึ่งเป็นรายงานรายได้และค่าใช้จ่ายที่ได้รับความนิยมในบริษัทจำกัด เนื่องจากมีโครงสร้างงบที่เข้าใจง่ายคือ รายได้รวม หักค่าใช้จ่ายรวม ได้เป็นกำไร และเมื่อหักต้นทุนทางการเงิน ดอกเบี้ย ภาษี จะได้เป็นกำไรสุทธิของบริษัท
ทั้งนี้ สำหรับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ประกอบธุรกิจหลายประเภท อาจจัดทำงบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้น ซึ่งจะแสดงรายได้ หักค่าใช้จ่ายแต่ละชนิดเป็นขั้นๆ มีโครงสร้างโดยแสดงกำไรเป็นหลายขั้น เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลกำไรในแต่ละขั้น โดยหลักแบ่งเป็นอย่างน้อย 4 ขั้น ได้แก่
- กำไรขั้นต้น
- กำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้
- กำไรก่อนภาษีเงินได้
- กำไรสุทธิ
“ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้น”
ความสัมพันธ์ของงบกำไรขาดทุนกับงบฐานะการเงิน
งบกำไรขาดทุนถือเป็นงบชั่วคราว ที่รายงานผลการดำเนินงานและสรุปกำไรสุทธิของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเมื่อถึงวันสิ้นรอบระยะเวลา กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะถูกบันทึกเข้าเป็นกำไรสะสมที่แสดงอยู่ในงบฐานะการเงิน และงบการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น
บทสรุป
งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่า ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ โดยมีการจัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ โดยรายงานกำไรขาดทุนเป็นข้อมูลสนับสนุนสำคัญในการวิเคราะห์และประเมินความสามารถของบริษัทอันนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินงานต่อไปในอนาคตได้ ทั้งนี้ บริษัทสามารถนำเสนองบได้ 2 รูปแบบ คือแบบขั้นเดียว และแบบหลายขั้น ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะช่วยให้ทุกท่าน เข้าใจความหมายและสามารถอ่านงบกำไรขาดทุนในเบื้องต้นได้