สารบัญ
- งบฐานะการเงินคืออะไร?
- องค์ประกอบของงบฐานะการเงิน
- วิธีการอ่านงบฐานะการเงิน
- สมการบัญชีที่สะท้อนอยู่ในงบฐานะการเงิน
- ประโยชน์ของงบฐานะการเงิน
- ความแตกต่างระหว่างงบฐานะการเงินกับงบกำไรขาดทุน
- สรุป
งบฐานะการเงินคืออะไร?
งบฐานะการเงิน คือ งบที่แสดงฐานะการเงินของกิจการ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นคงเหลือแต่ละประเภทอะไรบ้าง และมีมูลค่าเท่าใด
“ตัวอย่างงบฐานะการเงิน”
งบฐานะการเงิน เดิมชื่อ งบแสดงฐานะการเงิน แต่เพื่อให้ชื่องบต่างๆ มีความสอดคล้องกัน และเพื่อให้ชื่องบการเงินตรงความหมายมากขึ้น สภาวิชาชีพบัญชีจึงเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเป็น “งบฐานะการเงิน” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
องค์ประกอบของงบฐานะการเงิน
ข้อมูลในงบฐานะการเงิน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้
- สินทรัพย์ คือ ทรัพยากรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจกับบริษัท โดยจัดประเภทเป็น 2 กลุ่มตามระยะเวลาที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่
1.1) สินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง โดยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ภายในรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ หรือ 1 ปีนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า
1.2) สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่า 1 รอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ หรือมากกว่า 1 ปีนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน เงินลงทุนระยะยาว
2.หนี้สิน คือ ภาระผูกพันของบริษัทที่จะต้องจ่ายคืน โดยจัดประเภทเป็น 2 กลุ่มตามระยะเวลาที่คาดว่าจะจ่ายคืน ได้แก่
2.1) หนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่ต้องจ่ายคืนในรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ หรือ 1 ปีนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เช่น เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคาร เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ภาษีเงินได้ค้างจ่าย
2.2) หนี้สินไม่หมุนเวียน คือ หนี้สินที่ต้องจ่ายชำระคืนในอนาคต ซึ่งเกินกว่า 1 ปีนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เช่น เงินกู้ยืมระยะยาว หนี้สินผลประโยชน์พนักงาน
3. ส่วนของผู้ถือหุ้น คือ ส่วนของเจ้าของ ประกอบด้วย
3.1) ทุนเรือนหุ้น คือ ทุนของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นนำมาลงทุน
3.2) กำไรสะสม คือ กำไรจากผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ ซึ่งเป็นกำไรที่ยังไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น
วิธีการอ่านงบฐานะการเงิน
1.สินทรัพย์ แสดงรายการแยกกันระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียน และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
1.1) สินทรัพย์หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถแปลงเป็นเงินสดหรือใช้ประโยชน์ได้ภายใน 1 ปี ซึ่งรายการสินทรัพย์ในงบฐานะการเงินจะถูกเรียงลำดับก่อนหลังตามสภาพคล่อง โดยสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงจะถูกเรียงไว้ด้านบน เช่น
- เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด คือ เงินสดในมือ หรือเงินฝากธนาคารที่ไม่มีข้อจำกัดในการเบิกใช้ ซึ่งเงินเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง จึงถูกจัดเรียงไว้บนสุด ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เป็นจำนวน 5,346,069 บาท
- ลูกหนี้การค้า คือ ลูกหนี้จากการขายสินค้าหรือให้บริการที่ยังไม่ได้รับเงิน ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมีลูกหนี้การค้า เป็นจำนวน 3,845,666 บาท
- สินค้าคงเหลือ คือ สินค้าที่เก็บไว้เพื่อขาย ซึ่งต้องใช้เวลาในการนำสินค้าไปขายและรอรับชำระเงินจากลูกหนี้ จึงเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อยกว่าบัญชีเงินสด และลูกหนี้การค้า ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมีสินค้าคงเหลือ เป็นจำนวน 852,827 บาท
1.2) สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1 ปี เช่น
- ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ คือ สินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงานเพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยมีระยะเวลาการใช้งานมากกว่า 1 ปี เช่น โรงงาน เครื่องจักร ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมี ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นจำนวน 16,357,986 บาท
2.หนี้สิน แสดงรายการแยกกันระหว่างหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน
2.1) หนี้สินทรัพย์หมุนเวียน เป็นหนี้สินที่ต้องจ่ายคืนภายใน 1 ปี เช่น
- เจ้าหนี้การค้า คือ เจ้าหนี้ที่เกิดจากซื้อสินค้าหรือบริการซึ่งยังไม่ได้จ่ายชำระ ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมีเจ้าหนี้การค้า เป็นจำนวน 938,535 บาท
- ภาษีเงินได้ค้างจ่าย คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร เนื่องจากบริษัทมีกำไรทางภาษีจากการดำเนินงาน ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมีภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย เป็นจำนวน 248,983 บาท
2.2 ) หนี้สินไม่หมุนเวียน เป็นหนี้สินที่ต้องจ่ายคืนในอนาคต ซึ่งเกินกว่า 1 ปี เช่น
เงินกู้ยืมระยะยาว คือ เงินกู้ยืมที่ครบกำหนดจ่ายคืนเกินกว่า 1 ปีนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งแสดงรายการอยู่ในหนี้สินไม่หมุนเวียน อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปถ้าเงินกู้ยืมระยะยาวดังกล่าวเหลือระยะเวลาที่ต้องจ่ายคืนน้อยกว่า 1 ปี เงินกู้ยืมนี้จะถูกจัดประเภทใหม่เป็น “เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนี่งปี” ซึ่งแสดงรายการอยู่ในหนี้สินหมุนเวียน โดย ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะยาวที่ต้องจ่ายคืนเกินกว่า 1 ปี เป็นจำนวน 6,400,000 บาท
3.ส่วนของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย
3.1) ทุนที่ออกและชำระแล้ว คือ เงินที่ผู้ถือหุ้นนำมาลงทุน ณ 31 ธันวาคม 25X1 ผู้ถือหุ้นของบริษัทนำเงินมาลงทุนแล้ว จำนวนเงิน 10,000,000 บาท
3.2 ) กำไร (ขาดทุน) สะสม คือ ผลการดำเนินงานสะสมของบริษัทในแต่ละปี โดยถ้ายอดเป็นบวกแสดงว่าเป็นกำไรสะสม แต่ถ้ายอดติดลบจะหมายถึงบริษัทมีขาดทุนสะสม ณ 31 ธันวาคม 25X1 บริษัทมีกำไรสะสมที่ทำมาหาได้ตั้งแต่อดีตและยังไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 8,815,030 บาท
สมการบัญชีที่สะท้อนอยู่ในงบฐานะการเงิน
งบฐานะการเงิน ในอดีตนอกจากชื่อ “งบแสดงฐานะการเงิน” แล้ว ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ “งบดุล” เนื่องจากยอดรวมของสินทรัพย์จะต้องเท่ากับยอดรวมของหนี้สินบวกกับส่วนของผู้ถือหุ้น ตามสมการบัญชีที่สำคัญ คือ
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
จากสมการดังกล่าว ทำให้งบฐานะการเงินเล่าเรื่องราวของบริษัทได้ว่า สินทรัพย์ที่อยู่ในงบฐานะการเงินนั้นมีแหล่งเงินทุนมาจากหนี้และทุนของเจ้าของอย่างละเท่าไหร่
ประโยชน์ของงบฐานะการเงิน
งบฐานะการเงินเป็นงบที่สะท้อนสุขภาพทางการเงินของบริษัท ทั้งในด้านสภาพคล่อง ความมั่นคง และความสามารถในการทำกำไรในอดีต ดังนี้
- สภาพคล่องของกิจการ: พิจารณาได้จากสัดส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียน (Current Ratio)โดยบริษัทที่มีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน อาจมีปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทันเวลา
- ความมั่นคงของกิจการ: พิจารณาได้จากสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) โดยบริษัทที่มีหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นมากๆ อาจมีปัญหาเรื่องความมั่นคง เนื่องจากหนี้สินเป็นภาระที่ต้องจ่ายตามเงื่อนไขในสัญญาโดยไม่สนว่าบริษัทจะมีกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินงาน ดังนั้นการมีหนี้สินจำนวนมากทำให้เกิดความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ได้
- ความสามารถในการทำกำไรในอดีต: พิจารณาได้จากบัญชี “กำไรสะสม” ซึ่งสะท้อนถึงผลกำไรสะสมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ความแตกต่างระหว่างงบฐานะการเงินกับงบกำไรขาดทุน
งบฐานะการเงินเป็นงบที่แสดงข้อมูล ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25×1 โดยเป็นงบที่แสดงฐานะการเงินของบริษัท ว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นมูลค่าเท่าไหร่ ในขณะที่งบกำไรขาดทุนเป็นงบที่แสดงข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทสำหรับช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อสะท้อนความสามารถในการสร้างรายได้และการจัดการค่าใช้จ่ายของบริษัท รวมถึงแสดงผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละรอบระยะเวลาว่ามีกำไรหรือขาดทุน
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : งบกำไรขาดทุนคืออะไร?
สรุป
งบฐานะการเงินเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินที่บริษัทต้องจัดทำและนำส่งให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยงบฐานะการเงินเป็นงบที่แสดงข้อมูลฐานะการเงินของบริษัท ประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแหล่งที่มาของเงินทุน รวมถึงสภาพคล่องและความมั่นคงของบริษัท ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและได้ใช้ประโยชน์จากงบฐานะการเงินมากยิ่งขึ้นนะครับ
ศึกษางบการเงินที่บริษัทต้องจัดทำเพิ่มเติมได้ที่ : งบการเงินเบื้องต้น ที่ผู้ประกอบการควรรู้ !