สารบัญ
- งบการเงินคืออะไร ?
- งบการเงินประกอบด้วยอะไรบ้าง?
- กิจการใดบ้างที่ต้องจัดทำงบการเงิน ?
- ความสำคัญของงบการเงินต่อเจ้าของธุรกิจ
- Timeline การนำส่งงบการเงิน
- ช่องทางการนำส่งงบการเงิน
- บทสรุป
งบการเงินคืออะไร ?
งบการเงิน (Financial Statement) คือ รายงานทางการเงินและบัญชีที่แสดงฐานะการเงินและผลประกอบการของบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ซึ่งโดยปกติ 1 รอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทจำกัดคือ 1 ปี ดังนั้นบริษัทจำกัดจะจัดทำงบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
งบการเงินประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
- งบฐานะการเงินคือ งบที่แสดงข้อมูลฐานะการเงินของกิจการ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีฐานะการเงินเป็นอย่างไรบ้าง มีสินทรัพย์คงเหลือแต่ละประเภทเป็นเท่าใด เช่น เงินสด ลูกหนี้ อุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงมีหนี้สินคงค้างแต่ละประเภทเท่าไหร่ เช่น เจ้าหนี้ เงินกู้ยืมธนาคาร และมีทุนคงเหลือเป็นส่วนของเจ้าของเท่าไหร่ [สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน ]
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : งบฐานะการเงินคืออะไร? และเราจะใช้ประโยชน์จากงบฐานะการเงินได้อย่างไร?
- งบกำไรขาดทุน คือ งบที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าบริษัทมีรายได้เท่าไหร่ มีต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เท่าไหร่ และแสดงยอดรายได้หลังหักรายจ่ายคงเหลือเป็นกำไรของบริษัทเท่าใด [รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร (ขาดทุน)]
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : งบกำไรขาดทุนคืออะไร ? และวิธีการอ่านงบกำไรขาดทุน
- งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้นคือ งบที่แสดงการเปลี่ยนแปลงทุนของบริษัทในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการเพิ่มทุน ลดทุน หรือไม่ มีการควักทุนเพื่อจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหรือไม่ และมีกำไรจากการประกอบธุรกิจมาสะสมเป็นทุนของบริษัทเพิ่มเติมเท่าใด
- งบกระแสเงินสดคือ งบที่แสดงการหมุนเวียนเงินสดของกิจการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีเงินสดรับจากทางใด และมีรายการเงินสดจ่ายใช้ไปในเรื่องใด โดยแบ่งการหมุนเวียนเงินสดเป็น 3 หมวด ได้แก่
- กิจกรรมดำเนินงานเช่น เงินสดรับจากการขายสินค้า เงินสดจ่ายเงินเดือนพนักงาน
- กิจกรรมลงทุน เช่น เงินสดรับจากการขายอาคาร เงินสดจ่ายไปเพื่อลงทุนซื้อเครื่องจักร
- กิจกรรมจัดหาเงินเช่น เงินสดรับจากการกู้ยืมธนาคาร เงินสดจ่ายชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้
- หมายเหตุประกอบงบการเงิน คือ ส่วนที่แสดงรายละเอียดสำคัญเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการดูงบเช่น งบฐานะการเงินให้ข้อมูลว่าบริษัทมีลูกหนี้เท่าใด หมายเหตุประกอบงบการเงินจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าลูกหนี้ของบริษัทแบ่งเป็นลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นเท่าไหร่ มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือไม่ รวมถึงเป็นส่วนที่ให้ข้อมูลสำคัญที่ไม่ปรากฎอยู่ในงบการเงินเช่น นโยบายการบัญชี เหตุการณ์ทางคดีความของบริษัท (ถ้ามี)
รายการย่อในงบการเงินของบริษัทจำกัด
ความหมายรายการย่อในงบการเงินของบริษัทจำกัด
กิจการใดบ้างที่ต้องจัดทำงบการเงิน ?
ประเภทกิจการที่เจ้าของกิจการต้องจัดให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ได้แก่
- ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
- บริษัทจำกัด
- บริษัทมหาชนจำกัด
- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
- กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้กิจการแต่ละประเภท อาจมีเงื่อนไขในการจัดทำบัญชีที่แตกต่างกัน
ความสำคัญของงบการเงินต่อเจ้าของธุรกิจ
การดำเนินธุรกิจในแต่ละวันนั้นย่อมมีรายการทางบัญชีเกิดขึ้นมากมาย เช่น การขายสินค้า การซื้อวัตถุดิบ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน การกู้เงินจากธนาคาร รวมถึงการดำเนินธุรกิจครอบครัว ผู้ประกอบการอาจนำเงินส่วนตัวมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือนำเงินในส่วนของธุรกิจมาใช้ในเรื่องส่วนตัว ดังนั้นหากไม่มีการจัดทำงบการเงินอาจทำให้เจ้าของธุรกิจไม่ทราบแน่ชัดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร บริษัทสามารถทำกำไรได้จริงหรือไม่ มีกำไรมากน้อยเพียงใด สถานะทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างไร
งบการเงินจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อเจ้าของธุรกิจ โดยช่วยให้ทราบผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนและตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อบริษัท ในด้านอื่นๆ เช่น
- นักลงทุน/ผู้ถือหุ้น ใช้งบในการพิจารณาลงทุนในบริษัท
- เจ้าหนี้ ใช้งบในการพิจารณาให้credit term หรือเงื่อนไขการชำระเงินกับบริษัท
- ลูกค้า ใช้งบในการพิจารณาความน่าเชื่อถือและความสามารถเพื่อตัดสินใจทำธุรกรรมกับบริษัท
- ธนาคาร/สถาบันการเงิน ใช้งบในการพิจารณาปล่อยเงินกู้เพื่อให้บริษัทนำไปลงทุน
- พนักงาน ใช้งบในการพิจารณาตัดสินใจร่วมงานกับบริษัท
Timeline การนำส่งงบการเงิน
ตามเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทจำกัดและบริษัทมหาชน จะต้องนำเสนองบการเงินต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายใน 4 เดือนนับจากวันสิ้นงวด เมื่อได้รับอนุมัติงบจากที่ประชุมใหญ่แล้ว บริษัทจะต้องนำส่งงบให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 1 เดือน
ตัวอย่าง รอบระยะเวลาบัญชี 1 ม.ค. – 31 ธ.ค.2567
บริษัทจะต้องนำเสนองบต่อที่ประชุมใหญ่ภายในวันที่ 30 เม.ย. 2568 และนำส่งงบภายในวันที่ 31 พ.ค. 2568
ช่องทางการนำส่งงบการเงิน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดให้บริษัทจะต้องยื่นงบและรายงานการสอบบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) โดยใช้ Username และ Password ที่ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแทนการลงลายมือชื่อและตราประทับของบริษัท
รายละเอียดขั้นตอนการยื่นงบ DBD e-Filing และขั้นตอนการขอ Username และ Password
บทสรุป
หากเปรียบบริษัทเป็นนักเรียน/นักศึกษา งบการเงินก็เปรียบเสมือนสมุดพกหรือ transcript ที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา เป็นรายงานที่แสดงข้อมูลในอดีตที่ทำให้ทราบสถานะการเงินของบริษัท ซึ่งช่วยให้เจ้าของธุรกิจวางแผนและตัดสินใจดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตได้ง่ายขึ้น โดยงบการเงินประกอบด้วย งบฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงิน แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะจ้างนักบัญชีจัดทำงบ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญ โดยทำความเข้าใจและติดตามงบของบริษัทนั้น จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นภาพอนาคตของบริษัทตนเองได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการและทุกท่านเข้าใจความหมายและเห็นถึงความสำคัญของงบการเงิน