สารบัญ
- งบกระแสเงินสดคืออะไร?
- กิจกรรมในงบกระแสเงินสด
- สมการที่แสดงอยู่ในงบกระแสเงินสด
- ตัวอย่างและวิธีการอ่านงบกระแสเงินสด
- ประโยชน์ของงบกระแสเงินสด
- บทสรุป
งบกระแสเงินสดคืออะไร ?
งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow) คืองบการเงินที่แสดงการเปลี่ยนแปลงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของบริษัทในช่วงเวลาหนึ่ง แสดงให้เห็นภาพรวมการรับเงินและการจ่ายเงินของกิจการ โดยแบ่งรายการเคลื่อนไหวเงินสดออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน ซึ่งเงินสดในงบนี้หมายถึงทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เช่น เงินฝากบัญชีธนาคารออมทรัพย์ เงินฝากกระแสรายวัน เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูงหรือมีอายุน้อยกว่า 3 เดือนนับจากวันที่ได้มา เป็นต้น
กิจกรรมในงบกระแสเงินสด
ในแต่ละวันบริษัทมีรายการรับ-จ่ายเงินเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินจากการขายสินค้า รับชำระลูกหนี้ จ่ายชำระเงินเดือนพนักงาน ภาษี และค่าใช้จ่ายจิปาถะ หากนำรายการทั้งหมดมาเรียงทีละรายการ จะมีจำนวนมากจนอาจทำให้ไม่รู้แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของเงินสดนั้นมาจากเรื่องใดเป็นสำคัญ จึงทำให้เกิดการจำแนกหมวดหมู่แยกตามกิจกรรม โดยกิจกรรมในงบกระแสเงินสดแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ดังนี้
- กิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from Operating Activities : CFO) คือ รายการรับ-จ่ายเงิน จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการ ตัวอย่างดังนี้
กิจกรรมดำเนินงานถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นการแสดงเงินสดรับ-จ่ายจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัท บางบริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวนมากแต่อาจมีเงินสดรับจากการดำเนินงานติดลบจากการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ หรือการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อขายที่ไม่สมดุลกับเงินที่ได้รับจากการขายสินค้า ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานที่ดีจึงควรเป็นบวก
2. กิจกรรมลงทุน (Cash Flow from Investing Activities: CFI) คือ รายการรับ-จ่ายเงิน จากการตัดสินใจลงทุนหรือถอนการลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว เช่น การซื้ออาคารเพื่อขยายสาขา การควบรวมกิจการ เป็นต้น ตัวอย่างเพิ่มเติมดังนี้
กระแสเงินสดในกิจกรรมลงทุนส่วนใหญ่จึงเป็นลบ และมีลักษณะเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งการติดลบในกิจกรรมลงทุนไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนเช่น การขยายกิจการ เปิดสาขาใหม่ แม้ว่าจะเป็นกระแสเงินสดจ่าย แต่เป็นการจ่ายเงินลงทุนเพื่อให้เกิดกระแสเงินสดรับในกิจกรรมดำเนินงานที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต
3. กิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing Activities : CFF) คือ รายการรับ-จ่ายเงินที่เกิดจากการจัดหาเงินทุนให้กับบริษัท ทั้งจากการกู้ยืมเงิน หรือการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น ตัวอย่างดังนี้
หากกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินเป็นบวก อาจแสดงว่าบริษัทอยู่ระหว่างการระดมทุน ซึ่งต้องพิจารณากับกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาจเป็นการระดมทุนเพื่อนำมาลงทุน (กิจกรรมลงทุน) หากมีสัดส่วนที่เหมาะสมก็ถือเป็นเรื่องปกติของการดำเนินธุรกิจ แต่หากเป็นการจัดหาเงินเพื่อนำมาหมุนเวียนในการดำเนินงาน อาจเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
สมการที่แสดงในงบกระแสเงินสด
จากที่กล่าวข้างต้น งบกระแสเงินสดจะแสดงการเปลี่ยนแปลงเงินของบริษัทในช่วงเวลาหนึ่ง โดยจัดหมวดหมู่ออกเป็น 3 กิจกรรม จึงสามารถสรุปสมการให้เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้
รูปแบบของงบกระแสเงินสด
การนำเสนองบกระแสเงินสด สามารถทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ วิธีทางตรง และวิธีทางอ้อม โดยทั้ง 2 วิธี จะแตกต่างกันที่กิจกรรมดำเนินงานเท่านั้น
- วิธีทางตรง จะแสดงรายการเงินสดรับจ่ายจากกิจกรรมดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เห็นชัดว่าบริษัทมีเงินสดรับชำระค่าสินค้า และเงินสดจ่ายชำระค่าต้นทุนขายเท่าไหร่
- วิธีทางอ้อม จะแสดงเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานโดยกระทบยอดจากกำไรขาดทุน ตั้งต้นด้วยกำไรสุทธิ จากนั้นจะปรับปรุงยอดกำไรดังกล่าวด้วยรายการที่ไม่ใช่เงินสดและอื่นๆ เพื่อให้ได้เป็นเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทขายสินค้า200 บาท โดยเป็นรายการขายเงินเชื่อที่บริษัทยังไม่ได้รับเงิน 50 บาท ดังนั้นรายการขายดังกล่าวจะต้องถูกปรับปรุงออก 50 บาท เพราะบริษัทยังไม่ได้รับเงิน
ตัวอย่างและการอ่านงบกระแสเงินสด
ขอเริ่มจากงบกระแสเงินสดวิธีทางตรง เนื่องจากมีความเข้าใจง่าย เพราะแสดงรายการอย่างตรงไปตรงมา
“ตัวอย่างงบกระแสเงินสดวิธีทางตรง”
จากตัวอย่างจะเห็นว่างบกระแสเงินสดทางตรง จะแสดงรายละเอียดเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา โดยสามารถอ่านงบได้ดังนี้
- กิจกรรมดำเนินงาน
ในระหว่างปี 25X1 บริษัทมีเงินสดรับจากการดำเนินงานจากการขายและค่านายหน้ารวม 5,000,000 บาท และมีเงินสดจ่ายไปในกิจกรรมดำเนินงาน จากการจ่ายค่าสินค้า ค่าพนักงาน ดอกเบี้ย และภาษีจำนวน 1,908,000 บาท รวมบริษัทมีเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 3,092,000 บาท - กิจกรรมลงทุน
บริษัทจ่ายเงินซื้ออาคาร และอุปกรณ์สำนักงานจำนวน 2,400,000 บาท และ 12,000 บาท ตามลำดับ โดยระหว่างปีบริษัทได้รับเงินจากการขายรถยนต์จำนวน 200,000 บาท และได้รับเงินจากเงินฝากประจำที่ครบกำหนดอายุ 2 ปี จำนวน 300,000 บาท โดยรวมแล้วบริษัทมีเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 1,912,000 บาท - กิจกรรมจัดหาเงิน
ระหว่างปีบริษัทได้จัดหาเงินทุนโดยกู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาท และจ่ายชำระเงินกู้ยืมจำนวน 144,000 บาท รวมถึงจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นจำนวน 82,000 บาท โดยรวมแล้วบริษัทมีเงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 774,000 บาท - จากทั้ง 3 กิจกรรม พิจารณาได้ว่าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนโดยมีรายการจ่ายเงินลงทุนซื้ออาคารเป็นหลัก ทั้งนี้ บริษัทมีเงินสดเพิ่มขึ้นระหว่างปีสุทธิ 1,954,000 บาท
- เงินสดคงเหลือต้นต้นงวด 1,000,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,954,000 บาท พิจารณาตามสมการ ดังนี้
เงินสดคงเหลือปลายงวด
= เงินสดคงเหลือต้นงวด ± CFO ± CFI ± CFF
= 1,000,0000 + 3,092,000 – 1,912,000 + 774,000
= 2,954,000
“ตัวอย่างงบกระแสเงินสดวิธีทางอ้อม”
จากตัวอย่างงบกระแสเงินสดวิธีทางอ้อม ในส่วนของกิจกรรมดำเนินงาน จะนำเสนอตั้งต้นด้วยกำไรสุทธิก่อนภาษี โดยไม่ได้แยกให้เห็นรายการเงินสดรับ-จ่าย ของรายได้-ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมาเหมือนวิธีทางตรง การอ่านงบจึงมีความซับซ้อนกว่าวิธีทางตรง วิธีการอ่านงบกระแสเงินสดทางอ้อม มีดังนี้
- ระหว่างปี 25X1 บริษัทมีกำไรสุทธิก่อนภาษีจำนวน 4,122,000 บาท ซึ่งแสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุน แต่กำไรนี้ยังไม่ใช่เงินสดรับจากการดำเนินงานที่แท้จริง เพราะงบกำไรขาดทุนจัดทำขึ้นตามเกณฑ์คงค้าง หรือพูดง่ายๆ ว่า รายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างปี บางรายการอาจยังไม่ได้มีการรับหรือจ่ายเป็นเงินสดนั้นเอง
- ดังนั้น กำไรสุทธิก่อนภาษีจำนวน 4,122,000 บาท จะต้องถูกปรับปรุงด้วย “ รายการต่างๆ ที่ไม่ใช่เงินสด” ได้แก่
1) บวก ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 150,000 บาท เพราะการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นการตั้งโดยการประมาณการค่าใช้จ่ายขึ้นเองว่าบริษัทอาจได้รับเงินจากลูกหนี้ไม่ครบถ้วน รายการดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด จึงต้องบวกกลับในกำไรสุทธิ
(2) บวก ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 320,000 บาท คือค่าใช้จ่ายที่ทยอยตัดจากมูลค่าของสินทรัพย์ตามอายุการใช้งาน รายการดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด จึงต้องบวกกลับในกำไรสุทธิ
(3) หัก กำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ 20,000 บาท เนื่องจากการจำหน่ายรถยนต์ไม่ใช่การดำเนินงานตามปกติของบริษัท แต่เป็นรายการเงินสดรับของกิจกรรมลงทุน จึงต้องหักกำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ออกจากกำไรสุทธิ และแสดงเป็นเงินสดรับจากการจำหน่ายรถยนต์ที่กิจกรรมลงทุนแทน
(4) บวก ต้นทุนทางการเงิน 80,000 บาท เพราะค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่แสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุนอาจไม่ตรงกับยอดดอกเบี้ยที่ได้จ่ายจริงเช่น ธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ยืมงวดเดือนธันวาคม 25X1 ข้ามปี จึงต้องบวกกลับต้นทุนทางการเงิน โดยจะมีบรรทัดแสดงดอกเบี้ยจ่ายแยกต่างหากในส่วนล่างของกิจกรรมดำเนินงาน
เมื่อนำกำไรสุทธิก่อนภาษีปรับปรุงด้วยรายการต่างๆ ที่ไม่ใช่เงินสดแล้ว จะได้เป็นกำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน จำนวน 4,652,000 บาท
- ถัดมาเป็นการปรับปรุงกำไรสุทธิกับรายการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สิน ได้แก่
(1) ถ้าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นเราต้องหักออกจากกระแสเงินสด เช่น ลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 1,200,000 บาท หมายความว่ายอดขายที่บริษัทขายไปและบันทึกเป็นรายได้นั้น เป็นยอดขายที่ลูกค้ายังไม่จ่ายเงินจำนวน 1,200,000 บาท เราจึงต้องหักจำนวนสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นออก เพราะจำนวนนี้บริษัทยังไม่ได้รับเงิน
(2) ในทางกลับกันถ้าสินทรัพย์ลดลง ส่วนที่ลดลงเราต้องบวกเพิ่มเป็นกระแสเงินสด เช่น สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง 30,000 บาท หมายถึง ระหว่างปีบริษัทได้รับชำระเงินจากสินทรัพย์หมุนเวียนอื่น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเป็นบริษัทได้รับเงินมัดจำคืน 30,000 บาท จึงทำให้สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง และบริษัทมีเงินสดรับเพิ่มมา 30,000 บาท เราจึงต้องบวกรายการรับเงินนี้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน
(3) หนี้สินที่ลดลง ส่วนที่ลดลงต้องหักออกจากกระแสเงินสด เช่น เจ้าหนี้การค้าลดลง 50,000 บาท หมายความว่าระหว่างปีบริษัทได้นำเงินไปจ่ายเจ้าหนี้ ส่งผลให้เจ้าหนี้ลดลง เราจึงต้องหักจำนวนเงินจ่ายชำระเจ้าหนี้ 50,000 บาทออก หรือเป็นกระแสเงินสดติดลบ
(4) ถ้าหนี้สินเพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นต้องบวกเพิ่มเป็นกระแสเงินสด เช่น หนี้สินหมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้น 8,000 บาท หมายความว่าระหว่างปีบริษัทมีรายการที่ก่อให้เกิดหนี้สิน ยกตัวอย่างเช่นระหว่างปีบริษัททำประกันภัย 8,000 บาท แต่ยังไม่จ่ายชำระเงิน จึงทำให้หนี้ค่าประกันภัยเพิ่มขึ้น โดยไม่มีกระแสเงินสดออก เราจึงต้องบวก 8,000 บาท นี้กลับเข้ามา
เมื่อปรับปรุงด้วยรายการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดแล้ว จะได้เป็นเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 3,440,000 บาท ทั้งนี้ รายการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินสามารถเปรียบเทียบข้อมูลจากงบฐานะการเงินของปีนี้และปีก่อนหน้า
- ถัดมาจะเป็นส่วนที่แสดงรายการดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 20,000 บาท และภาษีจ่ายจำนวน 328,000 บาท โดยแยกแสดงรายการอย่างชัดเจน เนื่องจากตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 7 เรื่องงบกระแสเงินสด กำหนดให้กิจการจะต้องเปิดเผยรายการดอกเบี้ยจ่าย และภาษีจ่าย เป็นรายการแยกต่างหาก
- เมื่อกำไรสุทธิถูกปรับปรุงทั้งหมดหมดแล้ว จะได้เป็นเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 3,092,000 บาท ซึ่งจะมียอดเท่ากับงบกระแสเงินสดวิธีทางตรงเลย
- ในส่วนของกิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน จะนำเสนอเหมือนวิธีทางตรงทั้งหมด ยอดรวมการเปลี่ยนแปลงในเงินสดของวิธีทางตรง และวิธีทางอ้อมจึงเท่ากัน
แม้ว่างบกระแสเงินสดวิธีทางตรงจะแสดงรายการของกิจกรรมดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมาและง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่บริษัทส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดนิยมจัดทำด้วยวิธีทางอ้อม เนื่องจากเป็นวิธีที่จัดทำง่ายโดยใช้ข้อมูลในการจัดทำจากงบกำไรขาดทุนและงบฐานะการเงิน และยังช่วยให้เจ้าของกิจการทราบถึงความแตกต่างของกำไรทางบัญชีกับกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน
มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด
คู่มืออธิบายมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด
ประโยชน์ของงบกระแสเงินสด
เงินสดเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการประกอบธุรกิจ หากบริษัทมีปัญหาด้านสภาพคล่องอาจทำให้กิจการหยุดชะงักได้ งบกระแสเงินสดจะช่วยให้เจ้าของกิจการเห็นภาพในการบริหารเงินสดที่ดีขึ้น ทำให้เห็นทิศทางว่าเงินสดรับของกิจการเมื่อเข้ามาแล้ว ถูกจ่ายออกไปในเรื่องใด โดยหากพบรอยรั่วก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการหาทางแก้ไขและปรับปรุงทิศทางการเข้าออกรวมถึงวางแผนการใช้เงินของบริษัทให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผู้อ่านงบมองเห็นสาเหตุที่กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน แตกต่างจากกำไรทางบัญชีโดยพิจารณาจากรายการที่นำมาปรับปรุงกำไร ตามที่เราเห็นกันทั่วไปว่าบริษัทกำไรดีแต่ขาดสภาพคล่องก็ย่อมอยู่ต่อไปได้ยาก ในขณะที่บางบริษัทขาดทุนแต่ยังคงประคองธุรกิจต่อไปได้เพราะมีการบริหารเงินที่ดี
บทสรุป
งบกระแสเงินสด คือ งบที่แสดงที่มาที่ไปของเงินสด ทำให้เห็นรายการรับ-จ่ายเงินของกิจการในช่วงเวลาหนึ่ง โดยแบ่งรายการเป็น 3 หมวด ได้แก่ กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน สามารถนำเสนอได้ 2 รูปแบบคือ แบบทางตรง และแบบทางอ้อม ซึ่งจะนำเสนอแตกต่างกันเฉพาะกิจกรรมดำเนินงาน แม้ว่าหน่วยงานทางการจะไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการทุกคนต้องจัดทำงบกระแสเงินสด แต่หากบริษัทจัดทำก็จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารสภาพคล่องของกิจการ เพราะเงินคือปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยจะทำให้เจ้าของธุรกิจเห็นภาพการหมุนเวียนการใช้เงิน และช่วยวางแผนการใช้เงินได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจความหมายและสามารถอ่านงบกระแสเงินสดในเบื้องต้นได้