สารบัญ
ทำไมจึงต้องหักภาษีเงินเดือน?
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ระบุเอาไว้ว่า “ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีดังต่อไปนี้
ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีแล้ว คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น”
ดังนั้นหากจะสรุปว่า ทำไมจึงต้องหักภาษีเงินเดือน? เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้มีข้อกำหนดเอาไว้นั่นเอง
ใครมีหน้าที่หักภาษีเงินเดือน
ตามมาตรา 50 ได้ระบุเอาไว้ว่า “ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน” ดังนั้นผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายก็คือนายจ้างผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ลูกจ้างนั่นเอง
ขั้นตอนการคำนวณการหักภาษีเงินเดือน
ตามที่ระบุเอาไว้ในประมวลรัษฎากรในวรรคก่อน สามารถแบ่งขั้นตอนในการคำนวณการหักภาษีเงินเดือนออกเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
-
- คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีแล้ว
- คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48
- เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
ตัวอย่างการคำนวณการหักภาษีเงินเดือน
ก่อนที่จะมาดูตัวอย่างการคำนวณหักภาษีเงินเดือน สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ให้เข้าใจก่อนครับ : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร?
ยกตัวอย่างในการคำนวณเช่น นาย ก ได้รับเงินเดือน เดือนละ 200,000 บาท ต่อเดือน และรายละเอียดค่าลดหย่อนของนาย ก มีดังนี้
-
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบิดา 30,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป 40,000 บาท
- ซื้อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF เป็นจำนวน 20,000 บาท (RMF)
ขั้นแรก : คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีแล้ว
เงินเดือนของนาย ก ต่อปี = 200,000 x 12 = 2,400,000 บาท
ขั้นที่ 2 : คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48
เงินได้พึงประเมินทั้งปีคือ 2,400,000 บาท
ในการหักค่าใช้จ่าย เงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทนั้นจะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน หากเป็นเงินได้ 40(1) จะหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นในกรณีนี้นาย ก จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสิ้น 100,000 บาท
ในการหักค่าลดหย่อน นาย ก สามารถหักค่าลดหย่อนรวมได้ที่
ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท + ค่าลดหย่อนบิดา 30,000 บาท + เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป 40,000 บาท + ซื้อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF เป็นจำนวน 20,000 บาท (RMF) = 150,000 บาท
สรุปเงินได้สุทธิของนาย ก = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
สรุปเงินได้สุทธิของนาย ก = 2,400,000 – 100,000 – 150,000 = 2,150,000 บาท
หลังจากนั้นให้นำเอาเงินได้สุทธิของนาย ก ไปเข้าไปคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า สามารถสรุปได้ดังนี้
สรุปขั้นตอนที่ 2 คือ ภาษีที่นาย ก ต้องเสียของทั้งปีอยู่ที่ 410,000 บาท
ขั้นที่ 3 : เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
จากยอดภาษีที่คำนวณได้ในขั้นที่ 2 คือ 410,000 บาท นำมาหารด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่ายคือ 12 เดือน ดังนั้นยอดที่ต้องหักภาษีเงินเดือนในแต่ละเดือนเอาไว้คือ 410,000 บาท / 12 = 34,166.67 บาท
ดังนั้นในแต่ละเดือน นายจ้างจะจ่ายเงินให้นาย ก 200,000 – 34,166.67 = 165,833.33 บาท และนำยอดที่หักไว้ 34,166.67 บาท นำส่งสรรพากรในเดือนถัดไปด้วยแบบ ภงด.1
สรุป
นายจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินเดือนที่จ่ายให้แก่พนักงานเอาไว้ทุกเดือน และนำส่งสรรพากรเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับขั้นตอนในการคำนวณมี 3 ขั้นตอนหลักๆคือ
-
- ให้นำเงินเดือนคูณจำนวนเดือนที่ต้องจ่ายในปีภาษีนั้นเพื่อหาเงินได้พึงประเมิน
- นำเงินได้พึงประเมินที่คำนวณได้มาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- นำตัวเลขภาษีที่คำนวณได้มาหารด้วยจำนวนเดือนที่ต้องจ่ายในปีภาษีนั้น ก็จะได้ตัวเลขภาษีที่ต้องหักออกจากเงินเดือนเอาไว้นั่นเอง
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทำให้เข้าใจเกี่ยวกับการหักภาษีเงินเดือนมากยิ่งขึ้นนะครับ