สารบัญ
- เงินได้พึงประเมินคืออะไร?
- 40(1) – เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
- 40(2) – เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
- 40(3) – ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
- 40(4) – ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น
- 40(5) – เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
- 40(6) – เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
- 40(7) – เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
- 40(8) – เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน 40(1) – 40(7)
- คำถามที่พบบ่อย : เงินได้พึงประเมินตาม 40(2) 40(8) แตกต่างกันอย่างไร?
- สรุป
เงินได้พึงประเมินคืออะไร?
เงินได้พึงประเมินคือ เงิน หรือ ทรัพย์สิน อะไรก็ตามที่บุคคลได้มาแล้วทำให้บุคคลนั้นรวยขึ้นหรือมีความมั่งคั่งมากยิ่งขึ้น และกฎหมายกำหนดให้เงินได้ดังกล่าวต้องเสียภาษี
ตามประมวลรัษฎากรของประเทศไทย เงินได้พึงประเมินจะอยู่ในกฎหมายมาตรา 40 ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 8 ประเภท ดังนั้นเวลาที่เราเห็นคนเขียนว่า
40(1) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 1
40(2) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 2
40(3) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 3
40(4) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 4
40(5) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 5
40(6) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 6
40(7) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 7
40(8) – หมายถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ประเภทที่ 8
เราลองมาทำความเข้าใจในรายละเอียดของเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทกันดังนี้
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรา 40 : เงินได้ตามมาตรา 40
ศีกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณภาษีบุคคล : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร
40(1) – เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส ค่าบำเหน็จ ค่าบำนาญ เงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้างออกให้ เงินได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้แทนลูกจ้าง และทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน
40(2) – เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
คือ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ยกตัวอย่างเช่น
- ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า
- เงินอุดหนุนสำหรับงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
- เงินที่คำนวณจากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
- เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ที่ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
- เงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์ใดๆ ที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
มีหลายคนมักสงสัยว่าเงินได้พึงประเมินจากการจ้างงานตาม 40(1) และ 40(2) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร หลักสำคัญของมันอยู่ที่ความสำเร็จของงานหากเป็นเงินได้ตาม 40(1) จะไม่มุ่งเน้นความสำเร็จของงาน กล่าวคือพนักงานจะทำงานเสร็จหรือไม่เสร็จนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานผู้นั้น แต่หากเป็น เงินได้ตาม 40(2) ผู้ให้บริการจะต้องทำงานให้เสร็จจึงจะได้ค่าตอบแทน
มาดูตารางสรุปความแตกต่างของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ 40(2) ในแง่มุมอื่นกันดังนี้
40(3) – ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
เงินได้ประเภทนี้ที่มักพบได้บ่อย เช่น การขายคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ การขายโปรแกรมบัญชี เป็นต้น จะจัดอยู่ในเงินได้ประเภทดังกล่าว
40(4) – ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) สามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายประเภทดังนี้
40(4)ก – ดอกเบี้ยต่างๆไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
40(4)ข – เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น
40(4)ค – เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
40(4)ง – เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน เช่น การลดทุนทั้งๆที่มีกำไรสะสมค้างอยู่แทนที่จะจ่ายเงินปันผล กรณีนี้ถือเป็นเงินได้ของผู้ถือหุ้น เป็นต้น
40(4)จ – เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน
40(4)ฉ – ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน เช่น กำไรสะสมที่ค้างอยู่ ณ วันเลิกกิจการถือเป็นเงินได้ของผู้ถือหุ้นเป็นต้น
40(4)ช – ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
40(5) – เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
คือ เงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ยกตัวอย่างเช่น
- การให้เช่าทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
40(6) – เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
คือเงินได้จากวิชาชีพเฉพาะดังนี้
- กฎหมาย
- การประกอบโรคศิลป
- วิศวกรรม
- สถาปัตยกรรม
- การบัญชี
- ประณีตศิลปกรรม
40(7) – เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
คือเงินได้พึงประเมินที่มีการ เหมาทั้งค่าแรงและค่าของ ยกตัวอย่างเช่น การรับเหมาก่อสร้าง หรือ การรับผลิตสินค้าตามรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ (ไม่ได้เป็นสินค้าที่ผลิตอยู่แล้ว)
40(8) – เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน 40(1) – 40(7)
เงินได้อื่นๆนอกเหนือจากที่ระบุเอาไว้ในประเภทที่ 1-7 จะถือเป็นเงินได้ตาม 40(8) ทั้งหมด
คำถามที่พบบ่อย : เงินได้พึงประเมินตาม 40(2) 40(8) แตกต่างกันอย่างไร?
หากเป็นการใช้แรงงานของ ตัวเองเพียงคนเดียว จะถือเป็นเงินได้ตาม 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
หากเป็นกรณีที่ทำเป็น ธุรกิจ โดยไปจ้างงานเพิ่ม ต้องมีทีมงานทำกันเป็นทีม และมีต้นทุนค่อนข้างสูง จะถือเป็นเงินได้ตาม 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
สรุป
เงินได้พึงประเมินตามประมวลรักษฎากรนั้นมี 8 ประเภท สามารถสรุปเป็นตารางสั้นๆฉบับเข้าใจง่ายได้ดังนี้