ภงด 1 คืออะไร? ทำความเข้าใจกับวิธีการกรอกและยื่นแบบ

ปกบทความภงด 1 คืออะไร ทำความเข้าใจกับวิธีการกรอกและยื่นแบบ

สารบัญ

ภงด 1 คืออะไร?

          ภงด 1 เป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมิน 40(1) เงินเดือน หรือ 40(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือ ตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ให้แก่บุคคลหรือพนักงานของกิจการ

ตัวอย่างแบบ ภงด 1 

แบบภงด1 by BMU
คำชี้้แจ้งภงด1 by BMU

สนใจศึกษาเพิ่มเติมที่ : ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร อัตราการหัก ณ ที่จ่ายเป็นอย่างไร?

ใครที่จะต้องยื่นแบบ ภงด 1?

          ผู้ประกอบการที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมิน 40(1) และ 40(2) จะต้องหักภาษีเอาไว้ตามอัตราก้าวหน้า และนำส่งภาษีด้วยแบบ ภงด 1 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BMU จำกัด จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานวันที่ 30 กันยายน มีเงินที่หักเอาไว้บางส่วนตามอัตราก้าวหน้า และจะต้องนำส่งภาษีดังกล่าวภายในวันที่ 7 ของเดือนตุลาคม เป็นต้น

ตัวอย่างการคำนวณเพื่อยื่นแบบ ภงด 1

          หลายคนมักสงสัยว่าการคำนวณหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้านั้นคำนวณอย่างไร สำหรับหลักการคำนวณก็คือบริษัทต้องประมาณการเงินได้ของพนักงานทั้งปี หักด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ของพนักงานแต่ละคน เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงานทั้งปี และให้นำยอดภาษีที่คำนวณได้มาหาร 12 เพื่อเฉลี่ยภาษีจากรายปีให้เป็นรายเดือน ตัวเลขที่คำนวณได้นี้คือภาษีที่ต้องนำส่งในแบบ ภงด 1

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก มีเงินเดือน 40(1) เดือนละ 100,000 บาท ต่อเดือน

สำหรับรายละเอียดค่าลดหย่อนของนาย ก มีดังนี้

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  2. ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท
  3. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป 30,000 บาท

Step 1:  คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งปีของนาย A

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี

เงินได้พึงประเมิน = 100,000 x 12 = 1,200,000 บาท

ค่าใช้จ่าย = ตามกฎหมายการหักค่าใช้จ่ายเงินเดือนตามมาตรา 40(1) หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นนาย ก จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ที่ 100,000 บาท

ค่าลดหย่อน = ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 + ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 + เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป 30,000 = ค่าลดหย่อนทั้งสิ้น 120,000 บาท

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน 1,200,000 – ค่าใช้จ่าย 100,000 – ค่าลดหย่อน 120,000 = เงินได้สุทธิ 980,000 บาท

Step 2: นำเงินได้สุทธิดังกล่าวไปเข้าตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อคำนวณภาษีบุคคลทั้งปี ซึ่งแสดงการคำนวณดังนี้

ประมาณการภาษีบุคคลทั้งปีของนาย ก by BMU

ประมาณการภาษีบุคคลทั้งปีของนาย ก ที่ต้องเสียคือ 111,000 บาท

Step 3 : เมื่อประมาณการภาษีบุคคลทั้งปีแล้ว ให้นำภาษีที่คำนวณได้มาหาร 12 เพื่อเฉลี่ยเป็นรายเดือน ดังนี้

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย = 111,000 / 12 = 9,250 บาท ต่อเดือน

ยอดนี้เป็นยอดที่บริษัทนายจ้างต้องหักนาย ก เอาไว้ทุกเดือน และนำส่งภาษีด้วยแบบ ภงด 1

ขั้นตอนการกรอกแบบ ภงด 1

การกรอกแบบ ภงด 1 จะมี 4 ส่วนหลักๆดังนี้

ส่วนที่ 1

ภงด1 ส่วน 1 by BMU

ในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการยื่นแบบ ก็ให้กรอกข้อมูลดังนี้

  1. กรอกชื่อบริษัท ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
  2. กรอกข้อมูลเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน
  3. ติ๊กว่าเป็นการยื่นแบบปกติ หรือ ยื่นเพิ่มเติม
  4. กรอกว่าใบแนบ ภงด 1 มีจำนวนกี่แผ่น

ส่วนที่ 2

ภงด1 ส่วนที่ 2 by BMU

ในส่วนนี้จะเป็นการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับสรุปรายการภาษีที่นำส่ง โดยให้กรอกข้อมูลจำนวนราย เงินได้ทั้งสิ้น ภาษีที่นำส่งทั้งสิ้น แยกเป็นประเภทของเงินได้ที่ระบุตามแบบ (ทั้งหมดจะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ 40(2))

ส่วนที่ 3

ภงด1 ส่วนที่ 3 by BMU

ส่วนนี้ จะเป็นการให้คำรับรองและเซ็นแบบ ภงด 1 ก่อนยื่น ซึ่งอาจเป็นกรรมการเซ็น หรือพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบเซ็นก็ได้

ส่วนที่ 4

ภงด1 ส่วนที่ 4 by BMU

ส่วนนี้จะเป็นใบแนบ ภงด 1 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย ซึ่งจะเป็นการกรอกรายละเอียดของการหัก ณ ที่จ่าย โดยต้องกรอกรายละเอียดดังนี้

  1. ชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้มีเงินได้
  2. วัน เดือน ปี ที่จ่าย
  3. จำนวนเงินที่จ่ายในครั้งนี้
  4. จำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่งในครั้งนี้
  5. ลงชื่อ เซ็นชื่อ ของผู้จ่ายเงิน

ช่องทางในการยื่นแบบ ภงด 1

ช่องทางในการยื่นแบบมี 2 ช่องทางหลักๆคือ

  1. ยื่นแบบ ภงด 1 เป็นกระดาษที่สรรพากรพื้นที่ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ได้อธิบายไปในบทความนี้
  2. ยื่นแบบ ภงด 1 ผ่านระบบออนไลน์ของสรรพากร 

ระยะเวลาในการยื่นแบบ ภงด 1

          ตามกฎหมายบริษัทจะต้องนำส่งภาษีด้วยแบบ ภงด 1 ภายใน 7 วันแรกของเดือนถัดไป ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีรายจ่ายที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายในเดือน มกราคม บริษัทก็จะต้องนำส่งแบบ ภงด 1 และภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนกุมภาพันธ์ และหากนำส่งภาษีด้วยระบบออนไลน์จะสามารถบวกได้อีก 8 วัน คือวันที่ 15 ของเดือนกุมภาพันธ์ นั่นเอง

อย่าลืมยื่นแบบ ภงด 1ก เพื่อสรุปยอดทั้งปีกันด้วย

          ผู้ประกอบการต้องรวบรวมยอดเงินได้ 40(1) และ 40(2) ทั้งปีเพื่อสรุปและยื่น ภงด 1ก ด้วยภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป หากเป็นการยื่น ภงด 1 จะยื่นเฉพาะพนักงานที่ต้องถูกหักภาษี ส่วนพนักงานที่เงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องยื่น ภงด 1 ก็ได้ อย่างไรก็ตามหากเป็น ภงด 1ก จะต้องยื่นสรุปยอดทั้งหมดทั้งพนักงานที่ถูกหักภาษี และไม่ถูกหักภาษีเอาไว้

ดูรายละเอียดแบบ ภงด 1ก ได้ที่นี่ : แบบ ภงด 1ก 

สรุป

          ภงด 1 เป็นแบบนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายกรณีที่ผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา และมีเงินได้ตามมาตรา 40(1) เงินเดือน และ 40(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือ ตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ซึ่งจะต้องหักด้วยอัตราก้าวหน้า หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจ ภงด 1 มากยิ่งขึ้นนะครับ

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.