สารบัญ
- ภาษีตามอัตราก้าวหน้าคืออะไร?
- ความสำคัญของอัตราก้าวหน้าต่อระบบภาษี
- อัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า
- ข้อเสียของระบบภาษีตามอัตราก้าวหน้า
- สรุป
ภาษีตามอัตราก้าวหน้าคืออะไร?
อัตราก้าวหน้า คือ ระบบในการคำนวณภาษีในรูปแบบหนึ่ง ที่หากผู้ที่มีฐานภาษีสูงก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ส่วนผู้มีฐานภาษีที่ต่ำ ก็จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ
การเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าสามารถนำมาใช้จัดเก็บได้ในหลายประเภทภาษี ยกตัวอย่างเช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเสียตามอัตราก้าวหน้ากล่าวคือผู้มีเงินได้คนใดที่มีเงินได้สุทธิ (ฐานภาษี) มากก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่มาก ผู้มีเงินได้คนใดที่มีเงินได้สุทธิ (ฐานภาษี) น้อยก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ตามไปด้วย หรือ กรณีของการเก็บภาษีความหวานก็จัดเก็บตามอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เครื่องดื่มที่มีความหวานมากก็จะต้องเสียภาษีมาก เครื่องดื่มใดที่มีความหวานน้อยก็จะต้องเสียภาษีน้อยเช่นเดียวกัน
วัตถุประสงค์ของบทความนี้จะเน้นไปที่เรื่องอัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีบุคคลได้ที่ : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร
ความสำคัญของอัตราก้าวหน้าต่อระบบภาษี
การจัดเก็บภาษีตามอัตราก้าวหน้านั้นมีประโยชน์หลายประการดังนี้
- สร้างความเป็นธรรม : ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของคนในสังคม เนื่องจากผู้ที่มีรายได้สูงจะรับภาระภาษีสูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมนั้นลดลง
- ช่วยในการกระจายรายได้ : การเรียกเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้สูง สามารถนำเงินภาษีที่ได้มาไปช่วยกลุ่มประชากรที่ต้องการความช่วยเหลือได้ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ต่างๆเป็นต้น
- การสร้างความมั่นคงทางสังคม : เมื่อประชากรรู้สึกว่าระบบการจัดเก็บภาษีนั้นเป็นธรรม ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดเก็บภาษี นำไปสู่ความมั่นคงทางสังคมในระยะยาว
อัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
การคำนวณภาษีบุคคลของประเทศไทยจัดเก็บจากอัตราก้าวหน้า (ยิ่งมีเงินได้สุทธิสูงก็จะเสียภาษีในอัตราที่สูง) ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณเบื้องต้นดังนี้
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับอัตราภาษีของบุคคล จะเป็นดังต่อไปนี้
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า
จากตารางที่แสดงไปในหัวข้อก่อน ในการคำนวณเราจะนำเงินได้สุทธิในแต่ละช่วง คูณกับอัตราภาษีในแต่ละช่วง ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดของเงินได้สุทธิที่แต่ละคนมี ยกตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างที่ 1 : นาย ก มีเงินได้สุทธิ 100,000 บาท นาย ก จะต้องเสียภาษีดังนี้
นาย ก มีเงินได้สุทธิตกอยู่ในช่วง 1 – 150,000 แรก จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
ตัวอย่างที่ 2 : นาย ก มีเงินได้สุทธิ 1,050,000 บาท นาย ก จะต้องเสียภาษีดังนี้
นาย ก มีเงินได้สุทธิตกอยู่ในช่วงตั้งแต่ 1 – 150,000 แรก ถึง 1,000,001 – 2,000,000 จึงต้องคำนวณภาษีในทุกช่วงของอัตราภาษีดังกล่าว นาย ก จึงต้องเสียภาษีที่ 127,500 บาท
ตัวอย่างที่ 3 : นาย ก มีเงินได้สุทธิ 6,000,000 บาท นาย ก จะต้องเสียภาษีดังนี้
นาย ก มีเงินได้สุทธิตกอยู่ในช่วงตั้งแต่ 1 – 150,000 แรก ถึง ช่วงที่เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป จึงต้องคำนวณภาษีในทุกช่วงของอัตราภาษี นาย ก จึงต้องเสียภาษีที่ 1,615,000 บาท
จากตัวอย่างที่ 1 นาย ก มีเงินได้สุทธิ 100,000 บาท อัตราภาษีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0%
จากตัวอย่างที่ 2 นาย ก มีเงินได้สุทธิ 1,050,000 บาท อัตราภาษีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.14% (127,500 / 1,050,000)
จากตัวอย่างที่ 3 นาย ก มีเงินได้สุทธิ 6,000,000 บาท อัตราภาษีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 26.92% (1,615,000 / 6,000,000)
จะเห็นได้ว่าการจัดเก็บภาษีตามอัตราก้าวหน้ายิ่งมีเงินได้สุทธิมาก (ฐานภาษีมาก) ก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงตามไปด้วย
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณภาษีได้ที่ : คู่มือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อเสียของระบบภาษีตามอัตราก้าวหน้า
ในบทความนี้เราได้ทราบถึงความสำคัญของอัตราก้าวหน้าต่อระบบภาษี ซึ่งถือเป็นข้อดีกันไปแล้ว ในหัวข้อนี้เราลองมาดูถึงข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับระบบการจัดเก็บภาษีแบบนี้กันดูบ้าง
- เป็นระบบภาษีที่มีความซับซ้อนในการคำนวณ เพราะต้องใช้หลายอัตราภาษี ทำให้อาจเกิดข้อผิดพลาดในการคำนวณได้ง่าย
- แรงจูงใจในการหลีกเลี่ยงภาษีสูงสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีสูง จะเห็นได้ว่าผู้ที่เงินได้สุทธิเกิน 5 บาท จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 35% ซึ่งอาจทำให้คนกลุ่มนี้มีแรงจูงใจในการหลีกเลี่ยงภาษี
- แรงจูงใจในการทำงานลดลงสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีสูง เค้าจะรู้สึกว่าทำงานหนักไป ก็ต้องเอาไปเสียภาษีเป็นจำนวนมาก จึงอาจส่งผลทำให้แรงจูงใจในการทำงานนั้นลดลงไปได้
สรุป
อัตราก้าวหน้าเป็นระบบในการจัดเก็บภาษีรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงเป็นระบบที่นำมาใช้ในการเก็บภาษีบุคคลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น มีความยุ่งยากซับซ้อนในการคำนวณ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการหลีกเลี่ยงภาษี และอาจทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลงได้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ