ค่าลดหย่อนเป็นรายการหักจากเงินได้พึงประเมินเพื่อคำนวณเงินได้สุทธิในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งการหักค่าลดหย่อนจะทำให้เราเสียภาษีเงินได้ลดลง ดังนั้นในการวางแผนภาษีเราจึงควรหาค่าลดหย่อนมาหักออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่สร้างภาระทางการเงินที่มากจนเกินไป เรามาดูอัพเดทค่าลดหย่อนประจำปี 2567 กันดังนี้
- ค่าลดหย่อนส่วนตัวหักได้ 60,000 บาท ต่อปี
- ค่าลดหย่อนคู่สมรสหักได้ 60,000 บาท (กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้หรือมีเงินได้แต่ไม่ได้แยกคำนวณภาษี และกฎหมายอนุญาตให้มีได้สูงสุด 1 คน) ต่อปี
- ค่าลดหย่อนบุตรหักได้ 30,000 บาท ต่อปี หากมีลูกคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามารถหักค่าลดหย่อนลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปได้คนละ 60,000 บาท ต่อปี
- ค่าลดหย่อนบิดา มารดา หักได้คนละ 30,000 บาทต่อปี ซึ่งมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- เราเป็นลูกแท้ๆที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิ์)
- พ่อ แม่ จะต้องมีอายุครบหรือเกินกว่า 60 ปี ในรอบปีการเสียภาษี
- พ่อแม่อยู่ในความดูแลของเรา
- พ่อ แม่ มีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท
- พ่อ หรือ แม่ คนใดคนหนึ่งต้องอยู่ในไทยเกิน 180 วัน ในปีภาษีนั้น
- หาก พ่อ แม่ มีลูกหลายคน ตอนใช้สิทธิ์ ลูกต้องตกลงกันก่อนว่าใครจะใช้สิทธิ์ของใคร เนื่องจากพ่อหรือแม่ 1 คน เท่ากับ 1 สิทธิ์เท่านั้นไม่สามารถแบ่งได้
- ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพหักได้ 60,000 บาทต่อปี สำหรับผู้ที่ดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพนั้น
- ลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรหักได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
- หากมีลูกแฝดจะถือว่าเป็นครรภ์เดียว
- หากสามี ภรรยา แยกยื่นภาษี ภรรยาสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนนี้ได้คนเดียวเท่านั้น
- ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป / เงินฝากแบบมีประกันชีวิต หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ยกตัวอย่างประกันประเภทดังกล่าว เช่น ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์/สะสมทรัพย์, ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา, ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ, เงินฝากแบบมีประกันชีวิต เป็นต้น ส่วนกรณีเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ หักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดา มารดา หักได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง หักได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. หักได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน แต่หากเป็นกรณี กบข.จะได้สูงสุด 30% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าลดหย่อนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเงินประกันสังคม หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท
- ค่าลดหย่อนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หักได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท และเมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าลดหย่อนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยจากการซื้อที่อยู่อาศัย หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมือง หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเงินลงทุนในธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท คือค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 เฉพาะที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice / e-Receipt)
- ค่าลดหย่อนกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ ที่ได้ทำสัญญาจ้างและดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2568 หักได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างบ้านใหม่ที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ หักได้ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนตั้งแต่ข้อ 1 ถึง 22
- เงินบริจาคทั่วไป (ให้แก่วัด สถานศึกษาของราชการ องค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน องค์กรการกุศล) หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นๆ