สารบัญ
- ภาษีป้ายคืออะไร?
- ป้ายแบบไหนที่ต้องเสียภาษี และป้ายแบบไหนไม่ต้องเสียภาษี
- ใครที่มีหน้าที่เสียภาษีป้าย
- อัตราภาษีป้ายในแต่ละประเภท
- ขั้นตอนการเสียภาษีป้าย
- บทลงโทษและค่าปรับกรณีไม่เสียภาษีป้ายตามที่กำหนด
- สรุป
ภาษีป้ายคืออะไร?
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการเพื่อเอาไว้ใช้ในการหารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษรภาพหรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทําให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นๆ ดังนั้นทุกๆป้ายที่เป็นการโฆษณาเพื่อหารายได้ก็จะต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น
หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีป้ายคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา เป็นต้น
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510
ป้ายแบบไหนที่ต้องเสียภาษี และป้ายแบบไหนไม่ต้องเสียภาษี
ป้ายที่ต้องเสียภาษี
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าทุกๆป้ายที่เป็นการโฆษณาเพื่อหารายได้ก็จะต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น
- ป้ายชื่อร้านค้า
- ป้ายโฆษณาสินค้า
- ป้ายบริษัท
- ป้ายโรงแรม
- ป้ายโรงพยาบาล
ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี
ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มีดังนี้
- ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
- ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า
- ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
- ป้ายที่แสดงไว้ที่คน หรือสัตว์
- ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่ง เป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้าย ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
- ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
- ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมาย ว่าด้วยการ นั้นๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
- ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการ สหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
- ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
- ป้ายของวัด หรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
- ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
- ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ใครที่มีหน้าที่เสียภาษีป้าย
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายคือ เจ้าของป้าย โดยเสียเป็นรายปี ยกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรก ให้เสียภาษีป้ายเป็นรายงวด งวดละ สามเดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปีนั้น
อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถหาตัวเจ้าของป้ายได้ ให้ถือว่า เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้น ติดตั้งอยู่ เป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีป้าย
อัตราภาษีป้ายในแต่ละประเภท
ภาษีป้ายจะกำหนดอัตราภาษีตามขนาดพื้นที่ของป้าย และข้อคามที่ปรากฎในป้าย สามารถแบ่งย่อยออกมาเป็น 3 ประเภทดังนี้
ป้ายประเภทที่ 1 : ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
- ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษี 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซ็นติเมตร
- ป้ายทั่วไป ที่ไม่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษี 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซ็นติเมตร
ตัวอย่างที่ 1 ป้ายที่มีข้อความว่า “บริษัท เอบีซี จำกัด” เป็นป้ายโฆษณาทั่วไป ขนาด กว้าง 200 ซ.ม. ยาว 200 ซ.ม.
พื้นที่ป้ายทั้งหมด = กว้าง x ยาว = 200 x 200 = 40,000 ตารางเซ็นติเมตร
หน่วยของพื้นที่ป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย / 500 = 40,000 / 500 = 80 หน่วย
ภาษีป้าย = 80 หน่วย x 5 บาท = 400 บาท

ตัวอย่างที่ 2 ป้ายที่มีข้อความว่า “บริษัท เอบีซี จำกัด” เป็นป้ายโฆษณาที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ ขนาด กว้าง 200 ซ.ม. ยาว 200 ซ.ม.
พื้นที่ป้ายทั้งหมด = กว้าง x ยาว = 200 x 200 = 40,000 ตารางเซ็นติเมตร
หน่วยของพื้นที่ป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย / 500 = 40,000 / 500 = 80 หน่วย
ภาษีป้าย = 80 หน่วย x 10 บาท = 800 บาท
ป้ายประเภทที่ 2 : ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ (รวมถึงตัวเลขอารบิค) หรือมีอักษรไทยปนกับภาพ และ/หรือ เครื่องหมายอื่น
- ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษี 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซ็นติเมตร
- ป้ายทั่วไป ที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษี 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซ็นติเมตร
ตัวอย่างที่ 3 ป้ายที่มีข้อความว่า
บริษัท เอบีซี จำกัด
ABC CO.,LTD.
เป็นป้ายโฆษณาทั่วไป ขนาด กว้าง 200 ซ.ม. ยาว 200 ซ.ม.
พื้นที่ป้ายทั้งหมด = กว้าง x ยาว = 200 x 200 = 40,000 ตารางเซ็นติเมตร
หน่วยของพื้นที่ป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย / 500 = 40,000 / 500 = 80 หน่วย
ภาษีป้าย = 80 หน่วย x 26 บาท = 2,080 บาท

ตัวอย่างที่ 4 ป้ายที่มีข้อความว่า
บริษัท เอบีซี จำกัด
ABC CO.,LTD.
เป็นป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ขนาด กว้าง 200 ซ.ม. ยาว 200 ซ.ม.
พื้นที่ป้ายทั้งหมด = กว้าง x ยาว = 200 x 200 = 40,000 ตารางเซ็นติเมตร
หน่วยของพื้นที่ป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย / 500 = 40,000 / 500 = 80 หน่วย
ภาษีป้าย = 80 หน่วย x 52 บาท = 4,160 บาท
ป้ายประเภทที่ 3 : ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆหรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
- ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษี 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซ็นติเมตร
- ป้ายทั่วไป ที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษี 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซ็นติเมตร
ตัวอย่างที่ 5 ป้ายที่มีข้อความว่า
ABC CO.,LTD.
บริษัท เอบีซี จำกัด
เป็นป้ายโฆษณาทั่วไป ขนาด กว้าง 200 ซ.ม. ยาว 200 ซ.ม.
พื้นที่ป้ายทั้งหมด = กว้าง x ยาว = 200 x 200 = 40,000 ตารางเซ็นติเมตร
หน่วยของพื้นที่ป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย / 500 = 40,000 / 500 = 80 หน่วย
ภาษีป้าย = 80 หน่วย x 50 บาท = 4,000 บาท

ตัวอย่างที่ 6 ป้ายที่มีข้อความว่า
ABC CO.,LTD.
บริษัท เอบีซี จำกัด
เป็นป้ายโฆษณาที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ขนาด กว้าง 200 ซ.ม. ยาว 200 ซ.ม.
พื้นที่ป้ายทั้งหมด = กว้าง x ยาว = 200 x 200 = 40,000 ตารางเซ็นติเมตร
หน่วยของพื้นที่ป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย / 500 = 40,000 / 500 = 80 หน่วย
ภาษีป้าย = 80 หน่วย x 52 บาท = 4,160 บาท
ตารางสรุปอัตราภาษีป้าย
ขั้นตอนการเสียภาษีป้าย
โดยปกติแล้วก่อนที่จะมีการติดตั้งป้ายต้องขออนุญาตต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน โดยมีขั้นตอนการขออนุญาตและเสียภาษีดังนี้
- ยื่นขออนุญาต โดยการแจ้งขนาด พร้อมด้วยภาพถ่ายของป้าย และแผนผังที่ตั้งของป้ายต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือ ภ.ป.1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี โดยจะต้องใช้เอกสารประกอบดังนี้
- บัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ทะเบียนการค้า
- หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีที่เป็นนิติบุคคล)
- รูปถ่ายป้าย พร้อมระบุขนาด กว้าง x ยาว
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือ ใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
- หากมีคำนวณแล้วมีภาษีที่ต้องชำระมากกว่า 3,000 บาท ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระ 3 งวด งวดละ 1 เดือน เป็นจำนวนเงินเท่าๆกันได้
บทลงโทษและค่าปรับกรณีไม่เสียภาษีป้ายตามที่กำหนด
- ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท
- ผู้ใดไม่เสียภาษีป้ายภายในวันที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับวันละ 100
- ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้าย หรือไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้าย ณ สถานประกอบการค้า หรือสถานประกอบการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท
สรุป
ภาษีป้ายเป็นภาษีที่จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะจัดเก็บภาษีโดยดูจากประเภทของป้าย และ จำนวนพื้นที่ของป้าย ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน ช่วยให้เข้าใจในเรื่องภาษีป้ายมากขึ้นนะครับ