สารบัญ
บทนำ
- ภงด 2 คืออะไร? ทำความรู้จักแบบภาษีที่คนทำธุรกิจต้องรู้
- ใครต้องยื่น ภงด 2 บ้าง?
- ประเภทเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ด้วยแบบ ภงด 2
รายละเอียดเกี่ยวกับ ภงด 2
- วิธีการกรอกแบบ ภงด 2
- ช่องทางในการยื่นแบบ ภงด 2
- กำหนดเวลาในการยื่น ภงด 2
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ภงด 2
- สรุป
ภงด 2 คืออะไร? ทำความรู้จักแบบภาษีที่คนทำธุรกิจต้องรู้
ภงด 2 คือแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีที่ บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลจ่ายเงินได้พึงประเมิน 40(3) เช่น ค่าแห่งลิขสิทธิ์ ค่าแห่งกู๊ดวิลล หรือ 40(4) เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ให้แก่บุคคลธรรมดา
สนใจศึกษาเพิ่มเติมที่ : ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร อัตราการหัก ณ ที่จ่ายเป็นอย่างไร?
ใครต้องยื่น ภงด 2 บ้าง?
ผู้ประกอบการที่ได้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(3) และ 40(4) ให้แก่บุคคลธรรมดา จะต้องหักภาษีเอาไว้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และนำส่งภาษีด้วยแบบ ภงด 2 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เช่น บริษัท BMU จำกัด จ่ายเงินปันผล (เงินได้ตามมาตรา 40(4)ข) ให้แก่ผู้ถือหุ้น วันที่ 31 กรกฎาคม มีเงินที่หักเอาไว้ และจะต้องนำส่งภาษีดังกล่าวภายในวันที่ 7 ของเดือนสิงหาคม เป็นต้น
ประเภทเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ด้วยแบบ ภงด 2
40(3) – ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น – หักตามอัตราภาษีเงินได้ (คืออัตราก้าวหน้าโดยไม่หักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อน)
40(4) ที่พบเจอบ่อยมีดังนี้
40(4)(ก) – ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม – หัก 15%
40(4)(ข) – เงินปันผล – หัก 10%
40(4)(ค) – เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น – หักตามอัตราภาษีเงินได้
40(4)(ง) – เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน – หักตามอัตราภาษีเงินได้
40(4)ฉ – ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน – หักตามอัตราภาษีเงินได้
40(4)(ช) – ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน – หัก 15%
วิธีการกรอกแบบ ภงด 2
การกรอกแบบ ภงด 2 จะมี 4 ส่วนหลักๆดังนี้
ส่วนที่ 1 – ข้อมูลทั่วไป
ในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลทั่วไปของบริษัท และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการยื่นแบบ กรอกข้อมูลดังนี้
- กรอกชื่อบริษัท ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของนิติบุคคล
- กรอกข้อมูลเดือนที่จ่ายเงินได้
- ติ๊กว่าเป็นการยื่นแบบปกติ หรือ ยื่นเพิ่มเติม
- กรอกว่าใบแนบ ภงด 2 มีจำนวนกี่แผ่น
ส่วนที่ 2 – สรุปรายการภาษีที่นำส่ง
ส่วนนี้จะเป็นการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับสรุปรายการภาษีที่นำส่ง โดยให้กรอกข้อมูลว่าเงินที่จ่ายไปนั้นเป็นเงินได้ตาม 40(3) และ 40(4) ตามหัวข้อไหน
ส่วนที่ 3 – การให้คำรับรอง
ในส่วนนี้เป็นการให้คำรับรองและเซ็นแบบ ภงด 2 อาจเป็นกรรมการเซ็น หรือพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบเซ็นก็ได้
ส่วนที่ 4
ส่วนนี้จะเป็นใบแนบ ภงด 2 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย ซึ่งจะเป็นการกรอกรายละเอียดของการหัก ณ ที่จ่ายเป็นรายบุคคล โดยต้องกรอกรายละเอียดดังนี้
- ชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้มีเงินได้
- วัน เดือน ปี ที่จ่าย
- จำนวนเงินที่จ่ายในครั้งนี้
- จำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่งในครั้งนี้
- ลงชื่อ เซ็นชื่อ ของผู้จ่ายเงิน
ช่องทางในการยื่นแบบ ภงด 2
ในการยื่นแบบมี 2 ช่องทางหลักๆ ดังนี้
- ยื่นแบบ ภงด 2 เป็นกระดาษที่สรรพากรพื้นที่ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ได้อธิบายไปในบทความนี้
- ยื่นแบบ ภงด 2 ผ่านระบบออนไลน์ของสรรพากร
กำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภงด 2
นิติบุคคลจะต้องนำส่งภาษีด้วยแบบ ภงด 2 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีรายจ่ายที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายในเดือน มีนาคม บริษัทก็จะต้องนำส่งแบบ ภงด 2 และภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนเมษายน และหากนำส่งภาษีด้วยระบบออนไลน์จะสามารถบวกได้อีก 8 วัน คือวันที่ 15 ของเดือนเมษายน นั่นเอง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ภงด 2
หลายๆคนมักสงสัยว่าว่าหากผู้รับเงินปันผล 40(4)ข เป็นบริษัท (นิติบุคคล) ไม่ใช่บุคคลธรรมดา เวลาที่ผู้จ่ายหัก 10% จะต้องนำส่งภาษีด้วยแบบภาษีใด ระหว่าง ภงด 2 หรือ ภงด 53 คำตอบก็คือจะต้องนำส่งภาษีด้วยแบบ ภงด 53 เพราะ ภงด 2 เอาไว้ใช้กรณีที่ผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น
สรุป
แบบ ภงด 2 เป็นแบบที่เอาไว้ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่เป็นการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(3) และ 40(4) ให้แก่บุคคล ในบทความนี้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับอัตราในการหักที่ถูกต้อง รวมถึงวิธีในการยื่นแบบที่ถูกต้อง หวังว่าบทความนี้จะให้ทุกท่านคุ้นเคยกับแบบ ภงด 2 มากยิ่งขึ้นนะครับ