สารบัญ
- ภงด 53 คืออะไร?
- ใครต้องยื่น ภงด 53 บ้าง?
- การจ่ายเงินประเภทใดต้องหักด้วยแบบ ภงด 53
- ความแตกต่างระหว่างแบบ ภงด 53 กับ แบบ ภงด 3
- การกรอกแบบ ภงด 53
- ช่องทางการยื่นแบบ ภงด 53
- ช่วงเวลาในการยื่นแบบ ภงด 53
- สรุป
ภงด 53 คืออะไร?
ภงด 53 คือแบบนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นได้จ่ายเงินได้ค่าบริการ 40 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประเภทเงินได้มีดังนี้
40(2) – เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
40(3) – ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
40(4) – ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
40(5) – เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
40(6) – เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น กฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม เป็นต้น
40(7) – เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
40(8) – เงินได้ประเภทอื่นๆที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในเงินได้ 40(1) – 40(7) ยกเว้นการขายสินค้าไม่ต้องหัก
ใครต้องยื่น ภงด 53 บ้าง?
ผู้ที่ต้องยื่น ภงด 53 มี 2 กลุ่มหลักๆคือ
- รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลครั้งหนึ่งๆ ตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไป ให้คำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 0
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมิน 40 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักตามอัตรารายจ่ายแต่ละประเภท
2 กลุ่มข้างต้นเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการยื่นแบบ แต่ส่วนใหญ่ที่เรามักจะเจอกันบ่อยคือกลุ่มที่ 2 คือ นิติบุคคล จ่ายเงินได้ให้แก่นิติบุคคล ซึ่งเป็นเนื้อหาที่บทความนี้เน้น
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย : ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร อัตราการหัก ณ ที่จ่ายเป็นอย่างไร?
การจ่ายเงินประเภทใดต้องหักด้วยแบบ ภงด 53
รายจ่ายแต่ละประเภทมีอัตราในการหักภาษีที่แตกต่างกันไปดังนี้
40(2) – เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ หักร้อยละ 3
40(3) – ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น หักร้อยละ 3
40(4)ก – ดอกเบี้ย – หักร้อยละ 1
40(4)ข – เงินปันผล – หักร้อยละ 10
40(5) – เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน – หักร้อยละ 5
40(6) – เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น กฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม เป็นต้น – หักร้อยละ 3
40(7) – เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ – หักร้อยละ 3
40(8) – เงินได้ประเภทอื่นๆที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในเงินได้ 40(1) – 40(7) ยกเว้นการขายสินค้าไม่ต้องหัก – ส่วนใหญ่จะหักร้อยละ 3 ยกเว้นค่าโฆษณา หักร้อยละ 2 ค่าขนส่งหักร้อยละ 1 ค่าเบี้ยประกันวินาศภัยหักร้อยละ 1 รางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค – หักร้อยละ 5
หมายเหตุ : การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องมีจำนวน ตามสัญญาตั้งแต่ 1,000 บาท ขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง 1,000 บาท
ความแตกต่างระหว่างแบบ ภงด 53 กับ แบบ ภงด 3
ความแตกต่างหลักๆระหว่าง 2 แบบภาษีนี้มี 2 ประเด็นคือ
- ผู้รับเงิน : ภงด 53 สำหรับผู้รับเงินที่เป็นนิติบุคคล ส่วน ภงด 3 สำหรับผู้รับเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา
- ประเภทเงินได้ : ภงด 53 สำหรับการจ่ายเงินได้ 40 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) แต่หากเป็น ภงด 3 สำหรับการจ่ายเงินได้ 40 (5) (6) (7) (8)
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : ภงด 3 คืออะไร? ทำไมจึงต้องยื่นแบบ
การกรอกแบบ ภงด 53
วิธีการกรอกแบบ ภงด 53 จะมี 4 ส่วนหลัก สามารถแสดงรายละเอียดได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 – ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับตัวแบบภาษี
ในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลทั่วไปของบริษัท และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการยื่นแบบ กรอกข้อมูลดังนี้
- กรอกชื่อบริษัท ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของนิติบุคคล
- กรอกข้อมูลเดือนที่จ่ายเงินได้
- ติ๊กว่าเป็นการยื่นภาษีตาม มาตรา 3 เตรส, มาตรา 65 จัตวา หรือ มาตรา 69 ทวิ
- ติ๊กว่าเป็นการยื่นแบบปกติ หรือ ยื่นเพิ่มเติม
- กรอกว่าใบแนบ มีจำนวนกี่แผ่น
ส่วนที่ 2 – สรุปรายการภาษีที่นำส่ง
ในส่วนที่ 2 นี้จะเป็นการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับสรุปรายการภาษีที่นำส่ง โดยให้กรอกข้อมูลรวมว่ายอดเงินได้ทั้งสิ้นที่ต้องหักตามแบบภาษีนี้มียอดเงินรวมเป็นจำนวนเท่าใด โดยไม่ต้องแยกประเภทของเงินได้ เนื่องจากประเภทเงินได้จะแสดงอยู่ใน ส่วนที่ 4 – ใบแนบ อยู่แล้ว
ส่วนที่ 3 – การให้คำรับรอง
ในส่วนนี้เป็นการให้คำรับรองและเซ็นแบบภาษี ซึ่งผู้ลงชื่อจะเป็นกรรมการบริษัทเซ็น หรือจะเป็นพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบเซ็นก็ได้ เช่นเดียวกัน
ส่วนที่ 4 – ใบแนบ
ในส่วนที่ 4 นี้จะเป็นใบแนบของตัวแบบ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย จะเป็นการกรอกรายละเอียดของการหักเป็นรายนิติบุคคล ซึ่งจะต้องกรอกรายละเอียดดังนี้
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของนิติบุคลลนั้น
- เลขที่สาขา
- วัน เดือน ปี ที่จ่าย
- ประเภทเงินได้
- อัตราภาษีที่หัก
- จำนวนเงินที่จ่ายในครั้งนี้
- จำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่งในครั้งนี้
- ลงชื่อ เซ็นชื่อ ของผู้จ่ายเงิน
ช่องทางการยื่นแบบ ภงด 53
ช่องทางในการยื่นแบบมี 2 ทางหลักๆ ดังนี้
- ยื่นแบบ ภงด 53 เป็นกระดาษที่กรมสรรพากรพื้นที่ที่บริษัทตั้งอยู่ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ได้อธิบายไปในบทความนี้
- ยื่นแบบ ภงด 53 ผ่านระบบออนไลน์ของสรรพากร
ช่วงเวลาในการยื่นแบบ ภงด 53
ช่วงเวลาในการยื่นแบบ ผู้ประกอบการที่จ่ายเงินได้จะต้องยื่นภาษีด้วยแบบ ภงด 53 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน เช่น หากบริษัท BMU จำกัด มีรายจ่ายที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายในเดือน พฤษภาคม บริษัทก็จะต้องยื่นแบบและนำส่งภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนมิถุนายน และหากนำส่งภาษีด้วยระบบออนไลน์จะสามารถบวกได้อีก 8 วัน คือวันที่ 15 ของเดือนมิถุนายน
สรุป
แบบภาษี ภงด 53 เอาไว้ใช้สำหรับการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่ผู้ประกอบการจ่ายเงินได้ค่าบริการตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) ให้แก่นิติบุคคล เราได้ทำความเข้าใจอัตราในการหักที่ถูกต้องสำหรับรายจ่ายแต่ละประเภท รวมถึงวิธีการยื่นแบบที่ถูกต้อง (กรณียื่นด้วยกระดาษ) หวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจแบบ ภงด 53 มากยิ่งขึ้นนะครับ