สารบัญ
- ใบกำกับภาษีคืออะไร?
- ผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
- จุดที่ต้องออกใบกำกับภาษี
- ประเภทของใบกำกับภาษี
- ตัวอย่างและองค์ประกอบของใบกำกับภาษีเต็มรูป
- ตัวอย่างและองค์ประกอบของใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ข้อควรระวังในการออกใบกำกับภาษี
- สรุป
ใบกำกับภาษีคืออะไร?
ใบกำกับภาษี คือ เอกสารที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ทางฝั่งผู้ขาย) มีหน้าที่ต้องจัดทำและออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือให้บริการ และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น (Tax point เกิดขึ้น) เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายเรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการในแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำสำเนาใบกำกับภาษี และเก็บรักษาเอกสารไว้ ณ สถานประกอบการกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ทางฝั่งผู้ซื้อ) ได้รับใบกำกับภาษีไปแล้ว จะสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานในการเคลมภาษีซื้อในแต่ละเดือนได้ โดยยอดนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนจะคำนวณดังนี้
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ – เครดิตภาษียกมา
ใบกำกับที่ผู้ขายออกในทางบัญชีเราจะเรียกมันว่า “ใบกำกับภาษีขาย” ส่วนใบกำกับที่ผู้ซื้อได้รับมาในทางบัญชีเราจะเรียกมันว่า “ใบกำกับภาษีซื้อ” ในแต่ละเดือนผู้ประกอบการจะต้องสรุปยอดภาษีขายจากใบกำกับภาษีขายทั้งหมดที่ออกว่ามีมูลค่าเท่าใด และต้องสรุปยอดภาษีซื้อจากใบกำกับภาษีซื้อที่ได้รับมาทั้งหมดว่ามีมูลค่าเท่าใดเพื่อนำมาคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง และยื่นแบบ ภพ.30
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่นี่ : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?
ผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
-
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทำการขายสินค้าหรือให้บริการ
- ผู้ขายทอดตลาดที่มิใช่ส่วนราชการ ซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยให้ผู้ขายทอดตลาดออกใบกำกับในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน
- ตัวแทนในราชอาณาจักร ของผู้ประกอบการจดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขายและได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้า (มาตรา 86 วรรคสี่)
- ตัวแทนในราชอาณาจักร ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้ขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 86/2 โดยตัวแทนจะต้องออกใบกำกับภาษีในนามของ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
- ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือ ให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว (มาตรา 85/3 และมาตรา 86 วรรคสอง)
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเลิกกิจการ อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุญาตให้ ผู้ประกอบการที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ (มาตรา 86/11)
- ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ได้แจ้งขอจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับอนุมัติให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 82/3)
เรียนรู้กฎหมายเพิ่มเติม : มาตรา 82 , มาตรา 85-86
จุดที่ต้องออกใบกำกับภาษี
กรณีการขายสินค้า
ผู้ประกอบการจด Vat จะต้องจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีขายทันทีที่มีการส่งมอบสินค้า หรือเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้กับผู้ซื้อก่อนส่งมอบสินค้า หรือเมื่อได้รับชำระค่าสินค้าก่อนส่งมอบสินค้า
สรุปคือต้องออกใบกำกับเมื่อเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน
-
- ส่งมอบสินค้า
- โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า
- ได้รับชำระค่าสินค้า
กรณีการให้บริการ
ผู้ประกอบการจด Vat จะต้องจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีขายทันทีที่ได้รับชำระค่าบริการ หรือได้มีการใช้บริการนั้นก่อนได้รับชำระค่าบริการ
สรุปคือต้องออกใบกำกับเมื่อเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน
-
- ได้รับชำระค่าบริการ
- ได้มีการใช้บริการนั้นก่อนได้รับชำระค่าบริการ
ประเภทของใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษีมี 7 ประเภท ดังนี้
- ใบกำกับภาษีเต็มรูป (มาตรา 86/4)
- ใบกำกับภาษีอย่างย่อ (มาตรา 86/6)
- ใบเพิ่มหนี้ (มาตรา 86/9)
- ใบลดหนี้ (มาตรา 86/10)
- ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาดหรือโดยวิธีอื่นตามมาตรา 83/5
- ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่ออกให้สำหรับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 หรือมาตรา 83/7 (มาตรา 86/14)
- ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต ออกให้ในการเรียกเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากร (มาตรา 86/14)
เรียนรู้กฎหมายเพิ่มเติม : มาตรา 83 , มาตรา 86
ตัวอย่างและองค์ประกอบของใบกำกับภาษีเต็มรูป
โดยปกติผู้ประกอบการที่จด Vat จะต้องออกใบกำกับเต็มรูป โดยสาระสำคัญของใบกำกับเต็มรูปจะมีดังต่อไปนี้
-
- คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ออกใบกำกับภาษี (ผู้ขาย)
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ (ผู้ซื้อ)
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกเอกสาร
คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
คำว่า “ใบกำกับภาษี” เป็นข้อความที่กฎหมายบังคับให้ต้องระบุไว้ในเอกสาร อย่างไรก็ตามในกรณีผู้ประกอบการต้องการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ใน ชุดเดียวกัน ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
-
- ในใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว ต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด”
- ในสำเนาใบกำกับภาษี ต้องมีข้อความว่า “สำเนาใบกำกับภาษี” ไว้ด้วย ข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” และ “สำเนาใบกำกับภาษี” จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้น ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือไม่ได้
ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ออกใบกำกับภาษี (ผู้ขาย)
ชื่อของผู้ออกใบกำกับภาษีจะต้องเป็นชื่อเต็มจะออกเป็นชื่อย่อไม่ได้ เว้นแต่หากผู้ประกอบการมีสถานะเป็นนิติบุคคล คำที่บอกสถานะสามารถใช้คำย่อได้ เช่น บจก./บจ. หรือ บมจ. หรือ หจก. หรือ หสม. เป็นต้น
ที่อยู่จะต้องตรงตามที่ได้จดทะเบียน Vat เอาไว้
-
- กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำนักงานใหญ่ ให้ระบุข้อความว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่ เช่น “สนญ.” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลข ศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
- กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นสาขา ให้ระบุข้อความว่า “สาขาที่ …” โดยเลขที่ของสาขา ให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เช่น “สาขาที่ …” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ …” เช่น 00001 ไว้ใน ใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
ข้อความตาม (1) (2) จะตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วย ตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด ก็ได้
ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ (ผู้ซื้อ)
หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบุคคลธรรมดาหมายความรวมถึง นามสกุลด้วย สำหรับที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการ ตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
ตัวอย่างและองค์ประกอบของใบกำกับภาษีอย่างย่อ
หากเป็นผู้ประกอบการจด Vat ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าปลีก สามารถออกเป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อได้สาระสำคัญของใบกำกับภาษีอย่างย่อจะมีดังต่อไปนี้
-
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
- ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจน ว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
ข้อควรระวังในการออกใบกำกับภาษี
-
- ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จด Vat ไม่มีสิทธิ์ในการออกใบกำกับภาษี หากฝ่าฝืนจะถือว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องและมีโทษตามกฎหมาย
- ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการจด Vat ที่ไม่ได้มีการขายสินค้า หรือให้บริการจริงออกใบกำกับภาษี หากจงใจออกใบกำกับโดยไม่ได้มีการขายสินค้า หรือให้บริการจริง จะต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
- สำหรับธุรกิจซื้อขายสินค้า จุดความรับผิดมักจะเกิดขึ้นตอนส่งมอบสินค้า ดังนั้นเอกสารที่ออกให้แก่ลูกค้าจะเป็น “ใบส่งสินค้า / ใบกำกับภาษี” ซึ่งจะมีความแตกต่างจากธุรกิจบริการที่จุดความรับผิดมักจะเกิดขึ้นตอนได้รับชำระค่าบริการ ดังนั้นเอกสารที่ออกให้แก่ลูกค้าจะเป็น “ใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี”
สรุป
ใบกำกับภาษี เป็นเอกสารที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ จัดทำและออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือให้บริการ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น จุดความรับผิดในการเสีย Vat ให้ยึดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเป็นจุดความรับผิด (ส่งมอบสินค้า, โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า, ได้รับชำระค่าสินค้า, ได้รับชำระค่าบริการ, ได้มีการใช้บริการ) ผู้ประกอบการที่จด Vat โดยทั่วไปนั้นจะต้องออกใบกำกับภาษีเต็มรูปให้แก่ลูกค้าซึ่งจะต้องมีข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ผู้ประกอบการที่ทำค้าปลีกสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่ลูกค้าได้