สารบัญ
- นิยามของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
- การจัดประเภทรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และบัญชีอื่นๆ
- การแสดงรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในงบฐานะการเงิน
- การเปิดเผยข้อมูลเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- บทสรุป
นิยามของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงไม่มีข้อจำกัดในการเบิกใช้ สามารถจัดประเภทได้ ดังนี้
- เงินสด หมายถึง
- เงินสดในมือ เช่น ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ ธนาณัติ เช็คที่ถึงกำหนดชำระแต่ยังไม่ได้นำฝาก
- เงินฝากธนาคารประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์
- รายการเทียบเท่าเงินสด หมายถึง เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในจำนวนที่ทราบได้และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าน้อยหรือไม่มีสาะสำคัญ เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีวันครบกำหนดในระยะสั้น หรือเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาจ่ายคืนในระยะสั้น คือ ไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่ได้มา
คำชี้แจงประกาศกรมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน
การจัดประเภทรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และบัญชีอื่นๆ
การจัดประเภทรายการเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดได้นั้น จะต้องเข้าเงื่อนไขว่าเป็นเงินสดในมือ หรือเงินฝากธนาคาร หรือเงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งมีกำหนดจ่ายคืนภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ได้มาและไม่มีข้อจำกัดในการเบิกใช้
ตัวอย่างรายการและการจัดประเภท
- เงินสดย่อย คือ เงินสดในมือที่บริษัทถือไว้เพื่อให้เกิดความสะดวกเมื่อต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ทำให้สามารถจ่ายได้เลยโดยไม่ต้องรอไปเบิกธนาคาร จึงจัดประเภทเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
- เช็ค (Cheque) คือ เช็คธนาคาร กรณีที่บริษัทได้รับชำระจากลูกหนี้ แบ่งออกเป็น
-
- เช็คที่ถึงกำหนดชำระแล้วแต่ยังไม่ได้นำฝาก บริษัทสามารถนำไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ทันที จึงจัดประเภทเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
- เช็คที่ยังไม่ถึงกำหนด คือเช็คลงวันที่ไว้ล่วงหน้า ต้องรอให้ถึงวันที่ระบุจึงสามารถนำไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงว่าเช็คจะเด้งไม่สามารถขึ้นเงินได้ ดังนั้นจึงยังไม่เข้าเงื่อนไขของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และจัดประเภทเป็นลูกหนี้การค้าดังเดิม
- เงินฝากธนาคาร หากสามารถเบิกใช้ได้ทันทีโดยไม่ติดภาระค้ำประกัน จะถูกจัดประเภทเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด แต่ถ้าหากบริษัทนำเงินฝากธนาคารไปค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำ ทำให้ไม่สามารถเบิกถอนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น เงินฝากธนาคารที่ใช้ค้ำประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จึงต้องจัดประเภทเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นหรือสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นตามระยะเวลาและเงื่อนไขของการค้ำประกันแทน
- เงินฝากประจำ คือ เงินฝากที่ไม่สามารถถอนออกมาได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด โดยมักจะมีช่วงเวลาการฝากตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน ไปจนถึงหลายปี เงินฝากประจำที่ไม่มีภาระค้ำประกัน แบ่งเป็น
-
- เงินฝากประจำ <= 3 เดือน เป็นเงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง จึงจัดประเภทเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
- เงินฝากประจำ 3 – 12 เดือน ไม่เข้าเงื่อนไขของเงินลงทุนระยะสั้นที่ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่ได้มา จึงไม่เข้านิยามของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และเนื่องจากเงินฝากประจำนี้จะได้รับคืนภายใน 1 ปี จึงจัดประเภทเป็นเงินลงทุนชั่วคราว ซึ่งแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์หมุนเวียนในงบฐานะการเงิน
- เงินฝากประจำ > 12 เดือน ไม่เข้าเงื่อนไขของเงินลงทุนระยะสั้นที่ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่ได้มา จึงไม่เข้านิยามของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และเนื่องจากเงินฝากประจำนี้จะได้รับคืนในระยะเวลามากกว่า 1 ปี จึงจัดประเภทเป็นเงินลงทุนระยะยาว ซึ่งแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในงบฐานะการเงิน
- เงินเบิกเกินบัญชี (OD) คือ บัญชีที่ธนาคารให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยการให้วงเงินในการเบิกใช้ได้เกินเงินฝาก เช่น สั่งจ่ายเช็คเกินจำนวนเงินฝากที่มี ดังนั้นเงินเบิกเกินบัญชีเป็นเสมือนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคาร ซึ่งจัดประเภทได้ ดังนี้
-
- เงินเบิกเกินบัญชีทั่วไป จัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคาร โดยไม่นำมาหักกับบัญชีเงินฝากอื่นๆ
- เงินเบิกเกินบัญชีที่มีสัญญาให้หักบัญชีออมทรัพย์ กรณีที่บริษัททำสัญญาโอนเงินระหว่างบัญชีอัตโนมัติกับธนาคาร แม้สิ้นวันจะมียอดเงินเบิกเกินบัญชี แต่ความตั้งใจบริษัทไม่ได้จะกู้ยืมเงินธนาคารให้เสียดอกเบี้ย เนื่องจากสามารถโอนเงินอัตโนมัติมาใช้หักกลบได้ จึงจัดประเภทเงินเบิกเกินบัญชีดังกล่าวเป็น เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด (หักกลบ) เพื่อลดมูลค่าของบัญชีออมทรัพย์
การแสดงรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในงบฐานะการเงิน
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า “บัญชีเงินฝากธนาคาร” ไม่ได้จัดประเภทเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเสมอไป แต่สามารถจัดประเภทได้หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะของเงินฝาก เช่น บัญชีเงินฝากประจำ
งบฐานะการเงินจะแสดงรายการแต่ละบัญชีแตกต่างกันโดยเรียงลำดับตามสภาพคล่อง ซึ่งบัญชีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเป็นรายการที่มีสภาพคล่องสูงสุด จึงอยู่ลำดับบนสุดของสินทรัพย์หมุนเวียนในงบฐานะการเงิน ขณะที่เงินฝากธนาคารที่มีภาระค้ำประกันเงินกู้ยืมระยะยาว เป็นสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับเงินมากกว่า 1 ปี จึงจัดประเภทเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
“ตัวอย่างการแสดงรายการในงบฐานะการเงิน”
การเปิดเผยข้อมูลเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
หมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้ผู้อ่านงบได้ทราบรายละเอียดสำคัญเพิ่มเติมของบัญชีต่างๆ
“ตัวอย่างของการเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน”
จากตัวอย่าง แต่ละบัญชีมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
-
- เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เปิดเผยข้อมูลยอดรวมในหน้างบว่าประกอบไปด้วยรายการอะไรบ้างมูลค่าเท่าไหร่
- เงินลงทุนชั่วคราว เปิดเผยว่าคือรายการอะไร รวมทั้งเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ
- เงินฝากธนาคารที่มีภาระค้ำประกัน เปิดเผยว่าเป็นรายการอะไร และนำไปค้ำประกันอะไร
บทสรุป
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด คือ เงินสดในมือ เงินฝากธนาคาร และเงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งมีกำหนดจ่ายคืนภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ได้มาและไม่มีข้อจำกัดในการเบิกใช้ ทำให้บัญชีเงินฝากธนาคารทุกบัญชี อาจไม่ได้ถูกจัดประเภทเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเสมอไป ดังนั้นบริษัทควรจัดประเภทให้เหมาะสมตามลักษณะของรายการ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมและข้อจำกัดการเบิกใช้ต่างๆในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้งบการเงินได้เข้าใจรายการอย่างแท้จริง ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจการจัดประเภทและการเปิดเผยข้อมูลเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในงบการเงิน