สารบัญ
- ผู้ตรวจสอบบัญชีคือใคร?
- ความสำคัญของข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
- ประเภทของผู้ตรวจสอบบัญชี
- ความเห็นในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชี
- ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี?
- ความแตกต่างของผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ทำบัญชี
- สรุป
ผู้ตรวจสอบบัญชีคือใคร?
ผู้ตรวจสอบบัญชี คือ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีให้สามารถเข้าตรวจสอบงบการเงินของนิติบุคคลและแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้นได้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
ในประเทศไทยทุกๆนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด) จะต้องมีการจัดทำงบการเงินและยื่นงบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ยื่นงบการเงินให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ กรมสรรพากร เป็นต้น แต่หน่วยงานที่ได้รับงบการเงินไปจะไม่มีทางทราบได้เลยว่างบที่ได้รับไปนั้นเป็นงบที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่ จึงเป็นที่มาว่านิติบุคคลจะต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี เซ็นรับรองว่างบการเงินดังกล่าวนั้นมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่
ความสำคัญของข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
ความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลทางการเงินนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นในกรณีต่างๆดังนี้
- บริษัทยื่นงบและนำส่งภาษีให้แก่สรรพากร หากข้อมูลทางการเงินที่นำส่งไปนั้นไม่ถูกต้อง อาจทำให้ตัวเลขนำส่งภาษีอาจน้อยกว่าความเป็นจริงทำให้กรมสรรพากรได้รับภาษีไม่ครบถ้วน ส่งผลเสียหายต่อรายได้ของรัฐและเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในการบริหารประเทศได้
- บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากงบการเงินไม่น่าเชื่อถือ มีการตกแต่งตัวเลขทางการเงินให้ดูดีกว่าความเป็นจริง อาจทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดในฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท และมาลงทุนในบริษัทดังกล่าวทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายในวงกว้างได้
- บริษัทที่ต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อขยายธุรกิจ หากข้อมูลทางการเงินไม่ถูกต้อง มีการตกแต่งตัวเลขทางการเงินให้ดูดีกว่าความเป็นจริง อาจทำให้ธนาคารเข้าใจผิดในฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท และปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทดังกล่าวทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายเก็บหนี้ไม่ได้ เป็นหนี้สูญได้
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าข้อมูลทางการเงินนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้ตรวจสอบบัญชี จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการแสดงความเห็นว่างบการเงินใดน่าเชื่อถือ งบการเงินใดมีจุดบกพร่องตรงไหนในฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียนำข้อมูลจากหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีมาใช้ประกอบในการตัดสินใจได้ดีมากยิ่งขึ้น
ประเภทของผู้ตรวจสอบบัญชี
ในสายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีนั้นสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นอีกหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
- ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก (External auditor / CPA) – ผู้สอบบัญชีประเภทนี้ได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี จะตรวจงบการเงินประจำปีของนิติบุคคล และแสดงความเห็นว่างบการเงินดังกล่าวนั้นมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่ นิติบุคคลนั้นจึงจะสามารถนำงบการเงินไปยื่นที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้
- ผู้ตรวจสอบบัญชีภายใน (Internal auditor) – ผู้ตรวจสอบบัญชีภายในจะทำหน้านี้จะเน้นดูระบบการทำงานภายในบริษัท เพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพและมีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม
- ผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร (Tax auditor) – ผู้สอบบัญชีประเภทนี้ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากร จะตรวจงบการเงินประจำปีได้เฉพาะของห้างหุ้นส่วนขนาดเล็ก (รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท) และแสดงความเห็นว่างบการเงินดังกล่าวนั้นมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่ ห้างหุ้นส่วนนั้นจึงจะสามารถนำงบการเงินไปยื่นที่กรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ส่วนห้างหุ้นส่วนขนาดใหญ่ (รายได้เกิน 30 ล้านบาท ทุนเกิน 5 ล้านบาท) หรือหากเป็นบริษัท จะต้องให้ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบ
- ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับการเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ให้เซ็นงบการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้
- ผู้ตรวจสอบบัญชีระบบ IT (IT audit) – ผู้สอบบัญชีประเภทนี้จะเน้นตรวจสอบระบบ IT ของกิจการว่าระบบ IT ของกิจการมีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมแล้วหรือยัง
ความเห็นในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชี
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้สอบบัญชีมีหน้าที่แสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งความเห็นของผู้สอบบัญชีมี 2 รูปแบบหลักๆดังนี้
- แสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข – หากเป็นการแสดงความเห็นประเภทนี้แสดงว่างบการเงินนั้นมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ ไม่มีข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างเป็นสาระสำคัญ วิธีพิจารณาแบบง่ายๆว่าความเห็นผู้สอบเป็นแบบใดให้ดูที่หัวข้อของวรรคแรกในหน้ารายงานผู้สอบ หากเขียนว่า “ความเห็น” แบบนี้แสดงว่าเป็นการแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข
- แสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไป – หากเป็นการแสดงความเห็นประเภทนี้แสดงว่างบการเงินจะต้องมีประเด็นอะไรซักอย่างที่ผู้สอบต้องการสื่อสารไปยังผู้อ่านงบการเงินให้ทราบ สามารถแบ่งย่อยเป็น 3 รูปแบบดังนี้
- การแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข – กรณีที่งบการเงินแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือ ไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบที่เหมาะสมได้ โดยระดับความรุนแรงอยู่ในระดับสูง แต่ยังไม่สูงที่สุด วิธีพิจารณาแบบง่ายๆว่าความเห็นผู้สอบเป็นแบบนี้ให้ดูที่หัวข้อของวรรคแรกในหน้ารายงานผู้สอบ หากเขียนว่า “ความเห็นอย่างมีเงื่อนไข” แสดงว่างบการเงินมีประเด็นดังกล่าว
- การแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง – กรณีที่งบการเงินแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญโดยระดับความรุนแรงอยู่ในระดับสูงที่สุด วิธีพิจารณาแบบง่ายๆว่าความเห็นผู้สอบเป็นแบบนี้ให้ดูที่หัวข้อของวรรคแรกในหน้ารายงานผู้สอบ หากเขียนว่า “ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง” แสดงว่างบการเงินมีประเด็นดังกล่าว
- การไม่แสดงความเห็น – กรณีที่ไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบที่เหมาะสมได้ โดยระดับความรุนแรงอยู่ในระดับสูงที่สุด วิธีพิจารณาแบบง่ายๆว่าความเห็นผู้สอบเป็นแบบนี้ให้ดูที่หัวข้อของวรรคแรกในหน้ารายงานผู้สอบ หากเขียนว่า “การไม่แสดงความเห็น” แสดงว่างบการเงินมีประเด็นดังกล่าว
ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี?
ผู้ตรวจสอบบัญชีจะต้องได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้
- จะต้องมีการผึกหัดงานตรวจสอบบัญชีไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีเวลาฝึกหัดงานรวมกันเกินกว่า 3,000 ชั่วโมง
- จะต้องมีการทดสอบและทำแบบทดสอบให้ผ่านตามรายวิชาที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
เรียนรู้เพิ่มเติม : ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ความแตกต่างของผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ทำบัญชี
ความแตกต่างของผู้สอบบัญชี และ ผู้ทำบัญชี คือผู้ตรวจสอบงบการเงินของนิติบุคคล และแสดงความเห็นว่างบการเงินที่จัดทำขึ้นนั้นมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่ ส่วนผู้ทำบัญชีคือผู้ที่ลงบันทึกรายการค้าของนิติบุคคล และต้องส่งข้อมูลต่างๆให้แก่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ
จะเห็นได้ว่าหน้าที่นั้นมีความแตกต่างกันคือผู้ทำบัญชีเป็นผู้จัดทำข้อมูล ส่วนผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นผู้ให้ความเชื่อมั่นต่อข้อมูลว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ผ่านหน้ารายงานผู้สอบบัญชีนั่นเอง
เรียนรู้เกี่ยวกับผู้ทำบัญชี : ผู้ทำบัญชีคือใคร หน้าที่ความรับผิดชอบมีอะไรบ้าง?
สรุป
ผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้ความเชื่อมั่นต่อข้อมูลงบการเงินของกิจการ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทนั้นได้รับทราบว่างบการเงินที่กิจการจัดทำขึ้นนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ งานของผู้สอบบัญชีมีหลายรูปแบบ เช่น ตรวจงบการเงิน (External auditor) ตรวจระบบการคบคุมภายใน (Internal auditor) ตรวจภาษี (Tax auditor) ตรวจสอบระบบ IT (IT auditor) หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจกับความหมายของผู้สอบบัญชีมากขึ้นนะครับ