สารบัญ
- ภาษีซื้อต้องห้ามคืออะไร?
- ภาษีซื้อต้องห้าม : ไม่มีใบกำกับภาษี
- ภาษีซื้อต้องห้าม : ใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง
- ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
- ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อค่ารับรอง
- ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี
- ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
- ผลกระทบต่อการคำนวณ Vat ของภาษีซื้อต้องห้าม
- ผลกระทบต่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของภาษีซื้อต้องห้าม
- สรุป
ภาษีซื้อต้องห้ามคืออะไร?
ภาษีซื้อต้องห้ามคือ ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจด Vat ไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณ Vat ได้ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ไม่มีใบกำกับภาษี
- ใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง
- ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
- ภาษีซื้อค่ารับรอง
- ภาษีซื้อที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี
- ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) – ป.42
ทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร? มาหาคำตอบกันได้จากบทความนี้
ภาษีซื้อต้องห้าม : ไม่มีใบกำกับภาษี
หากผู้ประกอบการไปซื้อสินค้าหรือบริการแต่ไม่ได้รับใบกำกับภาษีมา ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจะถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม คือห้ามนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขาย
ภาษีซื้อต้องห้าม : ใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง
หากผู้ประกอบการไปซื้อสินค้าหรือบริการได้รับใบกำกับภาษีมา แต่มีข้อความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จะถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม คือห้ามนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขาย
ใบกำกับภาษีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ต้องมีรายละเอียดดังนี้
- คำว่าใบกำกับภาษีในที่ที่เห็นได้ชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจด Vat ที่ออกใบกำกับภาษี
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- มูลค่าของสินค้าหรือของบริการที่ยังไม่รวม Vat และจำนวน Vat ที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดเจน
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี วัน เดือน ปี
ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
ยกตัวอย่างเช่นหากผู้ประกอบการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าเกี่ยวกับเครื่องสำอางค์ แต่ดันไปมีภาษีซื้อเกี่ยวกับอาหารสัดว์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดังนั้นภาษีซื้อที่เกี่ยวกับอาหารสัตว์ดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อค่ารับรอง
ค่ารับรอง คือ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าของขวัญ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในการเลี้ยง รับรองรวมทั้งค่าบริการด้วย ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการรับรองจะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ABC จำกัด ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่จด Vat แต่ไปออกใบกำกับภาษีให้กับ บริษัท BMU จำกัด ภาษีซื้อที่ทาง บริษัท BMU จำกัด ได้รับนั้นถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ดังนั้นในการติดต่อทำธุรกิจระหว่างบริษัท ผู้ประกอบการควรที่จะตรวจสอบก่อนว่าบริษัทที่เราทำการค้าอยู่น่าเชื่อถือ และเป็นผู้ประกอบการจด Vat จริง
การตรวจสอบผู้ประกอบการจด Vat สามารถตรวจสอบได้ที่นี่ : ตรวจสอบผู้ประกอบการจด Vat
ภาษีซื้อต้องห้าม : ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
ภาษีซื้อต้องห้ามตาม ป.42 มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รวมถึง การซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ด้วย
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สิน / ค่าใช้จ่าย เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสีย Vat
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อใช้ในกิจการที่ต้องเสีย Vat และต่อมาได้ขาย หรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสีย Vat ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้ทำภายในสามปีนับจากเดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จ
- ใบกำกับภาษีที่รายการตามมาตรา 86/4(1) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
- ใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่าเอกสารออกเป็นชุดปรากฏอยู่ด้วย
- ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสีย Vat
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสีย Vat และประเภทที่ไม่ต้องเสีย Vat และผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณ Vat เพราะกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียVat มีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
- ภาษีซื้อจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสีย Vat ต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ทั้งนี้เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
ผลกระทบต่อการคำนวณ Vat ของภาษีซื้อต้องห้าม
วิธีในการคำนวณยอดที่นำส่ง Vat เป็นดังนี้
ดังนั้นหากรายการไหนเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ผู้ประกอบการจะไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้ ทำให้ Vat ที่ต้องนำส่งนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
ผลกระทบต่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของภาษีซื้อต้องห้าม
ภาษีซื้อต้องห้ามบางรายการไม่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ แต่บางรายการนั้นสามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ สามารถสรุปได้ดังนี้
ภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่สามารถลงเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
- ไม่มีใบกำกับภาษี
- ใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง
- ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
- ภาษีซื้อที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี
ภาษีซื้อต้องห้ามที่สามารถลงเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
- ภาษีซื้อค่ารับรอง
- ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
สรุป
หากผู้ประกอบการต้องการนำส่ง Vat แต่ละเดือนให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในเรื่องของภาษีซื้อต้องห้าม ว่ารายการใดสามารถนำไปหักออกจากภาษีขายได้ รายการใดไม่สามารถหักออกจากภาษีขายได้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมือใหม่ทุกท่านครับ