ค่าใช้จ่ายต้องห้ามมีอะไรบ้าง? มาทำความเข้าใจค่าใช้จ่ายต้องห้ามกัน

ปกบทความค่าใช้จ่ายต้องห้ามมีอะไรบ้าง? มาทำความเข้าใจค่าใช้จ่ายต้องห้ามกัน

สารบัญ

บทนำ :

  1. ค่าใช้จ่ายต้องห้ามคืออะไร?
  2. ทำไมค่าใช้จ่ายต้องห้ามถึงสำคัญ

ค่าใช้จ่ายต้องห้ามมีอะไรบ้าง :

  1. เงินสำรองต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  2. เงินที่จ่ายเข้ากองทุนใดๆ เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  3. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  4. ค่ารับรองหรือค่าบริการ
  5. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
  6. เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร
  7. การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  8. เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควรเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  9. รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  10. ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เองเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  11. ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเองถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  12. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ
  13. ผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามเว้นแต่ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี
  14. รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  15. รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  16. ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติ
  17. ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  18. ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลงถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  19. รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  20. รายจ่ายใดๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้วถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

ค่าใช้จ่ายต้องห้ามคืออะไร?

          ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คือ ค่าใช้จ่ายที่ในทางบัญชีบันทึกลงในงบการเงินเป็นค่าใช้จ่าย แต่ในทางภาษีไม่ให้ถือว่ารายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่าย เราจึงเรียกค่าใช้จ่ายในลักษณะนี้ว่า ค่าใช้จ่ายต้องห้าม

           ในการคำนวณภาษีเมื่อเราตั้งต้นด้วย กำไรสุทธิทางบัญชี เราก็จะต้องบวกกลับค่าใช้จ่ายต้องห้ามเพื่อให้เป็นกำไรในทางภาษี ลองมาดูตัวอย่างนี้กัน

            บริษัท BMU จำกัด มีรายได้ 1,000 บาท ค่าใช้จ่ายปกติ 200 บาท และมีค่าใช้จ่ายต้องห้าม 300 บาท สามารถแสดงตัวเลขกำไรทางบัญชี และทางภาษีได้ดังนี้

 

ตัวอย่างตารางค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          จะเห็นได้ว่ากำไรสุทธิทางบัญชีคือ 500 บาท ส่วนกำไรสุทธิทางภาษีคือ 800 บาท เนื่องจากไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายต้องห้าม 300 บาทมาหักออกได้ ดังนั้นในการคำนวณภาษีจะต้องกระทบยอดกำไรทางบัญชีให้เป็นกำไรทางภาษีดังนี้

กำไรทางภาษี = กำไรทางบัญชี + ค่าใช้จ่ายต้องห้าม

กำไรทางภาษี = 500 + 300 = 800 บาท นั่นเอง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกรอกแบบ ภงด 50 ได้ที่ : ภงด 50 คืออะไร ฉบับเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่

ทำไมค่าใช้จ่ายต้องห้ามถึงสำคัญ

         ค่าใช้จ่ายต้องห้ามมีความสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทราบ เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเก็บตัวเลข เพื่อนำมาบวกกลับในการคำนวณภาษีให้ถูกต้อง หากเก็บตัวเลขดังกล่าวไม่ถูกต้องก็อาจทำให้ตัวเลขการคำนวณภาษีผิดเพี้ยนไปนั่นเอง

เงินสำรองต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          ในที่นี่จะขอยกตัวอย่างเงินสำรองที่พบกันบ่อยๆ เช่น ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ, ประมาณการหนี้สินจากผลประโยชน์พนักงาน เป็นต้น

ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ – คือกรณีที่กิจการคาดว่าจะไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ได้แล้ว จึงตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในงบการเงิน ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี แต่เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษี ซึ่งสามารถไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ในวันที่กิจการตัดหนี้สูญตามขั้นตอนตามกฎหมาย

ประมาณการหนี้สินจากผลประโยชน์พนักงาน – เป็นการตั้งประมาณการเงินที่กิจการต้องจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อเกษียณ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี แต่เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษี ซึ่งสามารถไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ในวันที่กิจการได้ทำการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานจริง

          ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2567 บริษัท BMU จำกัด มีลูกหนี้ในงบการเงิน 200,000 บาท ซึ่งคาดว่ามีลูกหนี้ที่จะไม่สามารถเก็บเงินได้จำนวน 20,000 บาท จึงตั้งค่าเผื่อหนี้จะสูญเอาไว้ในงบการเงิน และในปี 2568 บริษัทได้ตัดจำหน่ายหนี้สูญดังกล่าวตามขั้นตอนตามกฎหมาย จะต้องกระทบยอดตอนคำนวณภาษีได้ดังนี้

 

ตัวอย่างตารางเงินสำรองต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

เงินที่จ่ายเข้ากองทุนใดๆ เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          อันนี้จะมีข้อยกเว้นตรงเงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ หากเป็นกองทุนอื่นจะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

รายจ่ายส่วนตัว – รายจ่ายส่วนตัวของเจ้าของไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท

รายจ่ายการให้โดยเสน่หา – รายจ่ายจากการรักใคร่ชอบพอเป็นการส่วนตัว การให้เปล่า

รายจ่ายการกุศล – รายจ่ายที่จ่ายไปในการทำบุญทำทาน บริจาคทรัพย์สินเพื่อการศึกษา การศาสนา

ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้จะสามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้

  1. รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ ตามที่กฎหมายกำหนดในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ (2/102)
  2. รายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามที่กฎหมายกำหนดในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ (2/102)

ค่ารับรองหรือค่าบริการ

          ค่ารับรองยกตัวอย่างเช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม แต่มีข้อยกเว้นหากค่ารับรองเข้าเงื่อนไขจะสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ดังต่อไปนี้

  1. ค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลที่ได้รับการรับรองไม่ใช่ลูกจ้างเว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
  2. ค่ารับรองหรือค่าบริการก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการ (หากเป็นสิ่งของจะต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาท)
  3. ค่ารับรองหรือค่าบริการสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขาย แต่รวมแล้วรายจ่ายดังกล่าวต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
  4. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการอนุมัติ และต้องมีใบรับหรือหลักฐานการรับเงินของผู้รับเงิน

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

          รายจ่ายนี้จะเป็นกรณีที่กิจการซื้อสินทรัพย์ถาวรที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี โดยปกติแล้วในทางบัญชีจะต้องบันทึกเป็น สินทรัพย์ถาวร ไม่ได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในทันที แต่จะทยอยตัดเป็นค่าเสื่อมราคาไปในแต่ละปีตามอายุการใช้งานของสินทรัพย์ ในทางภาษีก็เช่นเดียวกัน ตอนซื้อสินทรัพย์ถาวรเข้ามาจะไม่สามารถบันทึกเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ แต่จะทยอยตัดเป็นค่าเสื่อมราคาได้

เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร

           หมายถึง เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม และค่าปรับอาญา ตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญา และเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย

           นอกจากนี้ภาษีซื้อของผู้ประกอบการที่จด Vat ก็เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามเช่นเดียวกันเนื่องจากผู้ประกอบการสามารถนำไปเคลมภาษีมูลเพิ่มได้ตอนยื่นแบบ

การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

           การถอนเงินออกไปในลักษณะดังกล่าวอาจมองเป็นการถอนเงินลงทุน ปันผล หรือ เงินกู้ยืม ซึ่งไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควรเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

           เงินเดือนของผู้บริหารที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับธุรกิจในลักษณะเดียวกัน และขนาดใกล้เคียงกัน เจ้าหน้าที่สรรพากรอาจพิจารณาเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามได้

รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          รายจ่ายที่สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ได้มีการจ่ายจริง อันนี้ก็แน่นอนว่าไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ หรือรายจ่ายที่ลงผิดรอบบัญชีอันนี้ก็จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ยกตัวอย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ของเดือนธันวาคม แต่ไปจ่ายจริงเดือนมกราคม ในกรณีนี้ต้องถือเป็นค่าใช้จ่ายในเดือนธันวาคม หากลงค่าใช้จ่ายในเดือนมกราคมจะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามนั่นเอง

ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          เช่น บริษัทต่างประเทศ เข้ามาเปิดสาขาในไทย ได้สร้างอาคารสำนักงานสาขาในไทย และคิดค่าเช่าปีละ 300,000 บาท ค่าเช่าจำนวนนี้ที่บริษัทสาขาในไทยจ่ายให้แก่บริษัทสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศนั้น จะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม เพราะกฎหมายถือได้ว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน เป็นต้น

ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเองถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

         ดอกเบี้ยจ่ายที่บริษัทคิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง อันนี้ก็ถือเป็นรายเดียวกันจึงถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ

          ยกตัวอย่างเช่นหากบริษัทมีทำประกันไฟไหม้เอาไว้ หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นมาจริงๆค่าใช้จ่ายจากผลเสียหายที่เกิดขึ้นจะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามเอาไว้ก่อน และเมื่อทราบได้แน่นอนแล้วว่าประกันจะชดเชยให้เท่าใด ก็จะถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ในปีที่ได้รับชดเชย ยกตัวอย่างเช่น

           บริษัท BMU จำกัด ทำประกันไฟไหม้เอาไว้ในวงเงิน 3,000,000 บาท ในช่วงปลายปี 2567 ได้เกิดไฟไหม้ที่โรงงานของบริษัทเกิดขึ้น มูลค่าความเสียหายของโรงงาน 5,000,000 บาท ต่อมาในช่วงต้นปี 2568 ทางประกันได้เข้ามาตรวจสอบและจ่ายชดเชยมูลค่าความเสียหายที่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาเป็นจำนวน 2,900,000 บาท

          ในปี 2567 บริษัทจะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายความเสียหายจากไฟไหม้อาคาร เป็นจำนวน 5,000,000 บาท ตามหลักการทางบัญชี อย่างไรก็ตามความเสียหายนี้เข้าลักษณะเป็นผลเสียหายอันอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ดังนั้นในปี 2567 ตอนคำนวณภาษีจะต้องบวกกลับยอด 5,000,000 นี้กลับเข้ามาเพราะเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          ในปี 2568 เมื่อทางบริษัทได้รับเงินชดเชยจากประกันมาเป็นจำนวน 2,900,000 บาท บริษัทก็จะบันทึกรายการดังกล่าวเป็นรายได้อื่น และบริษัทสามารถหักออกยอด 5,000,000 ที่เคยบวกกลับไปในปีก่อนได้ เท่ากับในปี 2568 บริษัทมีผลกระทบในทางภาษีที่เกิดขึ้น 2,900,000 – 5,000,000 = (2,100,000) สรุปตามตารางได้ดังนี้

 

ตัวอย่างตารางสรุปผลเสียหายอันอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ

ผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามเว้นแต่ ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี

ทำความเข้าใจตารางในการนับขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ดังนี้

ผลขาดทุนย้อนหลังไม่เกิน 5 รอบ

รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ บริษัทจำกัด คือการหากำไร ดังนั้นหากมีรายจ่ายใดๆเกิดขึ้นที่ไม่เกี่ยวกับการหากำไรจึงถือว่าเป็น ค่าใช้จ่ายต้องห้าม

รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          รายจ่ายที่สาขาในประเทศไทยจ่ายไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศเพื่อเป็นค่าตอบแทนการให้ความช่วยเหลือหรือการให้บริการแก่สาขาในประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม อย่างไรก็ตามหากมีลักษณะดังนี้สามารถนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้

  1. รายจ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือหรือให้บริการของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นนั้นเกี่ยวกับสาขาในประเทศไทย
  2. รายจ่ายที่เกี่ยวกับการค้นคว้าและพัฒนาโดยสาขาในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์นั้น
  3. รายจ่ายใดหากสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นได้นำไปหักเป็นรายจ่ายแล้ว จะนำมาถือเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศไทยอีกไม่ได้
  4. รายจ่ายที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นเรียกเก็บมายังสาขาในไทยจะต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นที่รับรองทั่วไป และต้องถือปฏิบัติเช่นเดียวกับสาขาในประเทศอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ

ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติ

          กรณีซื้อสินทรัพย์หากเกินราคาตลาดไปมากๆหรือเกินสมควร ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์ดังกล่าวในส่วนที่เกินสมควรเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม หรือกรณีขายสินทรัพย์ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขายที่เกินสมควร ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามเช่นเดียวกัน

ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          ยกตัวอย่างเช่น การทำเหมืองแร่ การทำป่าไม้ ระยะเวลาที่ดำเนินกิจการจำนวนสินแร่ในดินหรือจำนวนป่าไม้ย่อมน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด บริษัทจะตีราคาหรือนำมูลค่าที่ลดน้อยลงนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้

ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลงถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

           ยกตัวอย่างเช่นการตั้งขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์นั้น ยังไม่ได้เกิดขาดทุนจริงเกิดขึ้นเนื่องจากสินทรัพย์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกจำหน่ายออกไป จึงถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานประกอบรายการที่เพียงพอ เช่น ขาดใบเสร็จรับเงิน ขาดสลิปในการโอนเงิน ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน จึงถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

รายจ่ายใดๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้วถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

          ยกตัวอย่างงรายจ่ายประเภทนี้ เช่น หากบริษัทมีการจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นของผลกำไร หากเป็นในลักษณะนี้จะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม เป็นต้น

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.