สารบัญ
บทนำ :
คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี :
ขั้นตอนการยื่น ภงด 51 :
ภงด 51 คืออะไร?
ภงด 51 คือแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบครึ่งปี โดยปกติแล้วนิติบุคคลจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ครั้งต่อปี ก็คือรอบครึ่งปี กับ รอบปลายปี รอบครึ่งปีเราจะใช้แบบภาษีที่ชื่อว่า ภงด 51 ส่วนรอบปลายปีเราจะใช้แบบภาษีที่ชื่อว่า ภงด 50 ในบทความนี้เราจะมาเน้นอธิบายเกี่ยวกับ ภงด 51 กัน
ท่านใดที่ยังสงสัยเกี่ยวกับเรื่องภาษีตัวนี้ มาอ่านบทความนี้กันก่อนนะ : ภาษีเงินได้นิติบุคคล สรุปความเข้าใจในหน้าเดียว
ใครบ้างที่ต้องยื่น ภงด 51?
กลุ่มของนิติบุคคลที่ต้องยื่นแบบ ภงด 51 ก็จะมีดังต่อไปนี้
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ยกตัวอย่างเช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เป็นต้น
- นิติบุคคลต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
- กิจการร่วมค้า เนื่องจากกิจการร่วมค้าถือเป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
หากกรณีที่เราเป็นมูลนิธิหรือสมาคม ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภงด 51 เนื่องจากมูลนิธิหรือสมาคมเสียภาษีจากยอดรายรับ จึงไม่ต้องประมาณการกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้
หลักการคำนวณภาษีเบื้องต้นใน ภงด 51
วิธีการคำนวณภาษีเพื่อยื่น ภงด 51 จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักๆคือ
- เสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ
- นิติบุคคลที่ต้องเสีย ภงด 51 ตามวิธีนี้ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นนิติบุคคลที่ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ปิดงบการเงินและรายงานทุกๆไตรมาส หรือ ทุกๆครึ่งปี ดังนั้นจึงไม่มีตัวเลขกำไรจริงมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเนื่องจากไม่ได้ปิดงบการเงินอย่างเป็นทางการ จึงต้องมีการประมาณการตัวเลขกำไรสุทธิ เพื่อนำไปยื่นเสียภาษีใน ภงด 51 ยกตัวอย่างเช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
- โดยขั้นแรกจะต้องประมาณการกำไรสุทธิทางภาษีทั้งปีขึ้นมาก่อน โดยจะต้องมีการประมาณการทั้งรายได้และค่าใช้จ่าย เพื่อหาประมาณการกำไรสุทธิทางภาษี
- ขั้นต่อมาเมื่อได้ตัวเลขประมาณการกำไรสุทธิทางภาษีทั้งปีมาแล้ว ก็ให้นำมาหาร 2 ก็จะได้ตัวเลข กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ
- หลังจากได้ตัวเลขกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิแล้ว ก็ให้นำมาเข้าตารางภาษี เพื่อคำนวณหาภาษีครึ่งปีที่จะต้องเสีย
- เสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก
- นิติบุคคลที่ต้องเสีย ภงด 51 ตามวิธีนี้ จะเป็นนิติบุคคลที่จะต้องมีการปิดงบการเงินตามกฎหมาย เช่น ปิดงบการเงินทุกๆไตรมาส หรือ ปิดงบการเงินทุกๆครึ่งปีเป็นต้น ทำให้มีตัวเลขกำไรสุทธิทางภาษีจริง เพื่อนำมาคำนวณภาษีครึ่งปีได้ นิติบุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, ธนาคารพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุน, บริษัทหลัก ทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- โดยในขั้นแรกจะต้องนำกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 6 เดือนแรก มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี
- หลังจากนั้นเมื่อได้ตัวเลขกำไรดังกล่าวแล้ว ก็ให้นำมาเข้าตารางภาษี เพื่อคำนวณหาภาษีครึ่งปีที่จะต้องเสีย
ตัวอย่างการคำนวณภาษีใน ภงด 51
1.เสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BMU จำกัด (กิจการ SME) ประมาณการรายได้ 14,000,000 บาท ประมาณการค่าใช้จ่าย 12,500,000 บาท ประมาณการกำไรสุทธิทางภาษีทั้งปีที่ 1,500,000 บาท จะคำนวณเสียภาษีครึ่งปีใน ภงด 51 ดังนี้
ประมาณการรายได้ 14,000,000 บาท
ประมาณการค่าใช้จ่าย 12,500,000 บาท
ประมาณการกำไร 1,500,000 บาท
กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ 1,500,000 บาท / 2 = 750,000 บาท
2.เสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BMU มหาชน จำกัด จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (กิจการ Non SME) มีกำไรสุทธิทางภาษีที่เกิดขึ้นจริง 6 เดือนแรก เป็นจำนวน 1,500,000 บาท จะคำนวณเสียภาษีครึ่งปีใน ภงด 51 ดังนี้
กำไรสุทธิทางภาษีที่เกิดขึ้นจริง 6 เดือนแรก 1,500,000 บาท
คูณอัตราภาษี 20% : 1,500,000 บาท x 20% = 300,000 บาท
โปรแกรมช่วยคำนวณภาษี ภงด 51
ในการเลือกโปรแกรมช่วยคำนวณภาษี ภงด 51 ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ลักษณะธุรกิจ ความซับซ้อนของธุรกิจ ขนาดของธุรกิจ เป็นต้น ในที่นี้จะขอแนะนำโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกรมสรรพากรเอง ดังนี้
เป็นเครื่องมือช่วยคำนวณภาษีครึ่งปีซึ่งเป็น Excel ไฟล์ ที่ทางกรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเอง และสามารถดาวน์โหลดได้จาก Web ของสรรพากรโดยตรง และเนื่องจากเป็น Excel ไฟล์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการคำนวณ ปรับเปลี่ยนได้ ไปตามความต้องการ
เป็นโปรแกรมที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตของทางสรรพากร จะสามารถนำข้อมูลที่เราใส่ลงไปช่วยคำนวณภาษีให้แก่เราได้
วิธีการยื่นแบบ ภงด 51
ในปัจจุบันวิธีการยื่นแบบ ภงด 51 จะเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
1.เข้าสู่ระบบ E-Filing โดยให้ใส่ Username และ Password ของนิติบุคคล
2.เลือกยื่นแบบ ภงด 51
3.เลือกรอบระยะเวลาบัญชี และวิธีในการเสียภาษี
4.เลือกประเภทนิติบุคคล และใส่รายละเอียดของผู้ทำบัญชี
5.ใส่ข้อมูลในรายการที่ 1 โดยให้ใส่ข้อมูลดังนี้
- ประมาณการยอดรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ
- หัก ประมาณการรายจ่าย
- คงเหลือ ประมาณการ กำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิ
- หัก ขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน
- หัก ประมาณการกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
- ประมาณการกำไรสุทธิที่ต้องคำนวณภาษี/ขาดทุนสุทธิ
- กึ่งหนึ่งของประมาณการ กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี/ขาดทุนสุทธิ
6.ใส่ข้อมูลในรายการที่ 2 เงินได้ที่ต้องเสียภาษี และการคำนวณภาษี โดยให้ติ๊กว่านิติบุคคลเสียภาษีในรูปแบบใด และใส่ยอดจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี และรายการหักต่างๆลงไป ระบบก็จะคำนวณภาษี ภงด 51 ให้เราโดยอัตโนมัติ
7.หลังจากนั้นระบบของสรรพากรก็จะสรุปยอดภาษีที่ต้องชำระออกมาให้ เราก็ดำเนินการยื่นแบบและสามารถดำเนินการจ่ายภาษีผ่านระบบออนไลน์ของสรรพากรได้เลย
กำหนดเวลาในการยื่น ภงด 51
กรณีที่ยื่นแบบ ภงด 51 ด้วยกระดาษ : จะต้องยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยกตัวอย่างเช่น นิติบุคคลที่มีรอบบัญชี 31 ธันวาคม จะต้องยื่นแบบ ภงด 51 กระดาษ ภายใน 31 สิงหาคม เป็นต้น
กรณียื่นแบบ ภงด 51 ด้วยระบบออนไลน์ : จะสามารถบวกเพิ่มได้อีก 8 วัน นับจากวันสุดท้ายในการยื่นแบบ ยกตัวอย่างเช่น นิติบุคคลที่มีรอบบัญชี 31 ธันวาคม จะต้องยื่นแบบ ภงด 51 กระดาษ ภายใน 31 สิงหาคม แต่หากยื่นด้วยระบบออนไลน์วันสุดท้ายคือวันที่ 8 กันยายน เป็นต้น
ข้อควรระวังในการยื่นแบบ ภงด 51
หากนิติบุคคลยื่นประมาณการกำไรสุทธิตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทางนิติบุคคลจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ชำระขาด
สรุป
ภงด 51 เป็นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบครึ่งปี ที่ทุกนิติบุคคลที่เข้าเงื่อนไขจะต้องยื่นและนำส่งทุกปีตามกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องศึกษาทั้งตัวกฎหมายภาษี วิธีการคำนวณภาษี รวมถึงวิธีการยื่นแบบให้ถูกต้อง เพื่อมิให้ถูกเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากสรรพากร หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ครับ