สารบัญ
- นิยามของสินค้าคงเหลือ
- องค์ประกอบของต้นทุนสินค้าคงเหลือ
- วิธีการคำนวณต้นทุนขายสินค้าคงเหลือ
- การแสดงรายการสินค้าคงเหลือในงบการเงิน
- บทสรุป
นิยามของสินค้าคงเหลือ
สินค้าคงเหลือ (Inventories) คือ สินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อขายตามปกติธุรกิจ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของวัตถุดิบ งานระหว่างทำ หรือสินค้าสำเร็จรูป
- วัตถุดิบ หมายถึง สิ่งที่กิจการซื้อมาเพื่อใช้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป
- งานระหว่างทำ หมายถึง สินค้าที่อยู่ในระหว่างผลิต ยังไม่พร้อมขายให้กับลูกค้า
- สินค้าสำเร็จรูป หมายถึง สินค้าที่อยู่ในสภาพพร้อมขาย
ยกตัวอย่างเช่น กิจการประกอบธุรกิจผลิตมันฝรั่งทอดกรอบ ซึ่งกิจการจะนำมันฝรั่งมาหั่น และทอดในน้ำมัน พร้อมปรุงรสชาติต่างๆ จากนั้นจึงนำมาบรรจุห่อพร้อมขาย
ศึกษาเพิ่มเติม: คำชี้แจงประกาศกรมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน
องค์ประกอบของต้นทุนสินค้าคงเหลือ
ต้นทุนสินค้าคงเหลือ ประกอบด้วย ต้นทุนในการซื้อและค่าใช้จ่ายต่างๆที่ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมขาย ดังนี้
- ต้นทุนการซื้อ หมายถึง ราคาซื้อสินค้า ค่าขนส่ง และต้นทุนอื่นๆที่กิจการต้องจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการ
- ต้นทุนแปลงสภาพ หมายถึง ต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิต เพื่อแปลงสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าที่พร้อมขาย เช่น ค่าแรงพนักงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและโรงงาน
- ต้นทุนอื่นๆ หมายถึง ต้นทุนอื่นๆที่ทำให้สินค้าคงเหลืออยู่ในสถานที่และสภาพปัจจุบัน
วิธีการคำนวณต้นทุนขายสินค้าคงเหลือ
สินค้าคงเหลือคือสินทรัพย์ที่กิจการบันทึกอยู่ในงบฐานะการเงิน และจะรับรู้เป็นต้นทุนขายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนเมื่อมีการขายสินค้าออกไป วิธีการคำนวณต้นทุนขายมีดังนี้
- วิธีราคาเจาะจง (Specific)
เป็นวิธีที่ระบุแบบเจาะจงว่าเป็นต้นทุนของสินค้าชิ้นไหนที่ขายออกไป จึงเป็นวิธีที่เหมาะกับสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถสับเปลี่ยนกันได้ และต้นทุนสินค้าแต่ละชิ้นมีความแตกต่างกัน เช่น เครื่องเพชร ชุดเฟอร์นิเจอร์สั่งทำ
- วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO)
เป็นวิธีที่กำหนดว่าสินค้าชิ้นไหนซื้อก่อนจะถูกขายออกไปก่อน ดังนั้นต้นทุนสินค้าที่ซื้อเข้ามาก่อนจะเป็นต้นทุนขาย และสินค้าคงเหลือที่อยู่ในงบฐานะการเงินจะเป็นต้นทุนของสินค้าที่ซื้อทีหลัง ทำให้มูลค่าสินค้าคงเหลือวิธีนี้ใกล้เคียงกับตลาดมากที่สุด วิธี FIFO นี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม และเหมาะกับสินค้าที่มีลักษณะคล้ายๆกัน หรือสินค้าที่มีอายุจำกัด
- วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted average)
เป็นวิธีที่กำหนดว่าสินค้าแต่ละชิ้นมีความคล้ายคลึงกันจึงใช้ราคาเฉลี่ยของสินค้าที่มีทั้งหมดในการคำนวณต้นทุนขาย โดยไม่สนใจว่าเป็นสินค้าที่ซื้อหรือผลิตมาจากรอบไหน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับสินค้าที่มีลักษณะคล้ายๆกัน สามารถสับเปลี่ยนกันได้
“ตัวอย่างการคำนวณต้นทุนสินค้าขาย”
บริษัท ตัวอย่าง จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อมาขายไป โดยมีข้อมูลการซื้อสินค้าเป็นดังนี้
และมีการขายสินค้า 2 ครั้ง คือวันที่ 15 มกราคม 25X1 และ 25 มกราคม 25X1 ซึ่งต้นทุนสินค้าขายอาจมีมูลค่าไม่เท่ากัน หากคำนวณด้วยวิธีที่ต่างกัน ดังนี้
1.วิธีราคาเจาะจง วิธีนี้กิจการจะต้องระบุให้ได้ว่าสินค้าที่หยิบไปขายนั้นเป็นสินค้าที่ซื้อมาจาก Lot ไหน เช่น
– ขายวันที่ 15 มกราคม 25X1 กิจการหยิบสินค้า Lot 1 ไปขาย ฉะนั้นต้นทุนขายสินค้าจะเท่ากับ 450 บาท
– ขายวันที่ 25 มกราคม 25X1 กิจการหยิบสินค้า Lot 3 ไปขาย ฉะนั้นต้นทุนสินค้าขายจะเท่ากับ 500 บาท
การคำนวณต้นทุนแบบวิธีราคาเจาะจง สรุปได้ดังนี้
-
- ต้นทุนขาย เท่ากับ 950 บาท ซึ่งก็คือต้นทุนสินค้าของ Lot 1 และ Lot 3 ที่ขายไป
- สินค้าคงเหลือ เท่ากับ 490 บาท ซึ่งก็คือสินค้า Lot 2 ที่ยังคงอยู่ในคลังสินค้า
2.วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) เป็นการคำนวณโดยเสมือนว่าเวลาขายนั้นจะหยิบ Lot เก่าสุดไปขายก่อนเสมอ คือ
– ขายวันที่ 15 มกราคม 25X1 เป็นการหยิบสินค้า Lot 1 ไปขาย เพราะเป็น Lot ที่ซื้อมาก่อน ฉะนั้นต้นทุนขายสินค้าขายจะเท่ากับ 450 บาท
– ขายวันที่ 25 มกราคม 25X1 เป็นการหยิบสินค้า Lot 2 ไปขาย ฉะนั้นต้นทุนสินค้าขายจะเท่ากับ 490บาท
การคำนวณต้นทุนแบบวิธีเข้าก่อนออกก่อน สรุปได้ดังนี้
-
- ต้นทุนขาย เท่ากับ 940 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนสินค้าของ Lot เก่าสุดที่ซื้อมา คือ Lot 1 และ Lot 2
- สินค้าคงเหลือ เท่ากับ 500 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนสินค้าของ Lot ใหม่ๆที่ซื้อมา คือ Lot 3
3.วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก เป็นการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของสินค้าทั้งหมด โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นการซื้อของ Lot ไหน
วิธีการคำนวณ มีดังนี้
-
- คำนวณต้นทุนสินค้าทั้งหมด โดยนำต้นทุนของสินค้าทุก Lot มารวมกัน ได้เป็นต้นทุนสินค้าทั้งสิ้น 1,440 บาท
- คำนวณหาต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย ซึ่งเท่ากับมูลค่าต้นทุนสินค้าทั้งหมดหารด้วยจำนวนสินค้า ได้ต้นทุนต่อหน่วยเท่ากับ 480 บาท (1,440 บาท / 3 ชิ้น)
- คำนวณต้นทุนสินค้าที่ขาย ซึ่งเท่ากับจำนวนสินค้าที่ขายคูณต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย ได้ต้นทุนสินค้าขายเท่ากับ 960 บาท (2 ชิ้น x 480 บาท)
- คำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือ ซึ่งเท่ากับจำนวนสินค้าที่เหลือคูณต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย ได้สินค้าคงเหลือเท่ากับ 480 บาท (1 ชิ้น x 480 บาท)
ดังนั้น การคำนวณแบบวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก จะต้องคำนวณหาต้นทุนสินค้าเฉลี่ยต่อหน่วยก่อน เพื่อนำมาคูณกับจำนวนที่ขายเป็นต้นทุนขาย และจำนวนสินค้าที่เหลืออยู่เป็นสินค้าคงเหลือ
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าเรื่องราวเดียวกัน แต่การใช้วิธีการคำนวณต้นทุนสินค้าขายที่ต่างกัน จะทำให้ได้มูลค่าที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นกิจการจึงควรเลือกใช้วิธีการคำนวณให้เหมาะสมกับสินค้า เพื่อให้สามารถสะท้อนมูลค่าของสินค้าคงเหลือ และต้นทุนสินค้าขายได้อย่างเหมาะสม
การแสดงรายการสินค้าคงเหลือในงบการเงิน
สินค้าคงเหลือ แสดงรายการเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนในงบฐานะการเงิน โดยแสดงมูลค่าด้วยราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับแล้วแต่มูลค่าใดจะน้อยกว่า ซึ่งอาจทำให้กิจการต้องตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัย เพื่อลดมูลค่าราคาทุนของสินค้าลง เนื่องจากคาดว่าจะขายได้ในราคาต่ำกว่าทุน เช่น ลดราคาขายสินค้าลงเพื่อจัดโปรโมชั่นล้างสต็อก
“ตัวอย่างการแสดงรายการสินค้าคงเหลือในงบการเงิน”
จากตัวอย่างข้างต้น กิจการเปิดเผยข้อมูลสินค้าคงเหลือเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ดังนี้
-
- นโยบายการบัญชีที่สำคัญ กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลทั่วไปและวิธีการคำนวณต้นทุนสินค้าขายว่ากิจการคำนวณด้วยวิธีใด เช่น จากตัวอย่างกิจการคำนวณด้วยวิธีเข้าก่อนออกก่อน
- หมายเหตุสินค้าคงเหลือ กิจการต้องเปิดเผยว่ายอดรวมที่แสดงอยู่ในงบฐานะการเงิน ประกอบด้วยราคาทุนของสินค้าคงเหลือประเภทใดบ้าง มูลค่าเท่าใด และมีค่าเผื่อสินค้าล้าสมัยจำนวนเท่าใด
บทสรุป
สินค้าคงเหลือ คือ สินค้าที่กิจการมีไว้เพื่อขายตามปกติธุรกิจ ซึ่งต้นทุนของสินค้าคงเหลือประกอบไปด้วยต้นทุนในการซื้อรวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมขาย สินค้าคงเหลือจะถือเป็นสินทรัพย์ในงบการเงินและจะรับรู้เป็นต้นทุนขาย (ค่าใช้จ่าย) เมื่อมีการขายสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งต้นทุนของสินค้าคงเหลือที่ซื้อหรือผลิตแต่ละรอบอาจมีราคาไม่เท่ากัน ทำให้กิจการต้องคำนวณต้นทุนขายว่าควรมีมูลค่าเท่าใด โดยวิธีการคำนวณต้นทุนขายมีทั้งหมด 3 วิธี คือ 1) วิธีราคาเจาะจง 2) วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) 3) วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ซึ่งผลลัพธ์ของการคำนวณแต่ละวิธีอาจไม่เท่ากัน ดังนั้น กิจการควรเลือกใช้วิธีการคำนวณให้เหมาะกับสินค้า เพื่อให้สินค้าคงเหลือและต้นทุนสินค้าขายสะท้อนมูลค่าได้อย่างเหมาะสม ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจบัญชีสินค้าคงเหลือและการคำนวณต้นทุนขายมากยิ่งขึ้น